ชาดา ปลื้มงานเทศกาลควายไทยเงินสะพัดพันล้าน เตรียมต่อยอดชูอุทัยธานีเป็นสนามประมูลควาย
ที่จังหวัดอุทัยธานี (10 มี.ค.) บริเวณแก้มลิง เขื่อนวังร่มเกล้า ตำบลเขาขี้ฝอย จังหวัดอุทัยธานี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานเทศกาลควายไทย อุทัยธานี ครั้งที่ 2 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2567
โดยมีนายวิฑูรย์ สิรินุกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี กล่าวต้อนรับ และมีนายเผด็จ นุ้ยปรีนา ยกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายกฤษฎา ซักเซ็ค นายกสมาคมพัฒนาพันธุ์ควายไทย นายประสงค์ เรืองสวัสดิ์ ปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย และประชาชนร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งมีการประกวดควายงามรุ่นต่างๆ มีจำนวนถึง 16 รุ่น
สำหรับการจัดงานเทศกาลควายไทยอุทัยธานีนั้น สามารถช่วยกระตุ้นให้การซื้อขายกระบือในจังหวัดอุทัยธานีมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบกระบือสวยงาม และกระบือทั่วไป รวมไปถึงการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์กระบือ ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ลูกกระบือที่เกิดมามีมูลค่าสูงขึ้น
โดยข้อจากการสำรวจข้อมูลเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ ในปี 2566 พบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงจำนวน 2,906 ราย จำนวนกระบือ 32,576 ตัว ปริมาณผลผลิตรวม 11,524 ตัว (กระบือสวยงาม 408 ตัว กระบือทั่วไป 11,116 ตัว ) มูลค่ารวม 402.70 ล้านบาท
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อก่อนตนเองก็เป็นเด็กเลี้ยงควาย สมัยนั้นเลี้ยงควายเนื้อ เพราะยังไม่มีควายสวยงามแบบนี้ ต้องบอกว่าอย่ามองคนเลี้ยงควายว่าต่ำต้อย สมัยตอนที่ตนเป็นเด็กนั้น ตอนที่กำลังเลี้ยงควายมีเด็กคนหนึ่งบอกกับตนเองว่า อาดาไม่เรียนหนังสือเลยเลี้ยงควาย เพราะจะถูกสอนกันมาว่าถ้าใครไม่เรียนหนังก็ต้องไปเลี้ยงควายแทน แต่วันนี้คนเลี้ยงควายเป็นรัฐมนตรีก็มีแล้ว และเชื่อว่าทุกวันนี้คนเลี้ยงควายต้องมีเงินและตนเองก็ไม่ลืมรากเหง้าของการเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ซึ่งก็อยากเห็นควายไทยของเรามีการพัฒนาต่อยอดมากขึ้นต่อไป การจัดงานเทศกาลควายไทยของจังหวัดอุทัยธานีนั้นนับว่ายิ่งใหญ่มากขึ้นทุกปี และอีกหนึ่งสิ่งที่ตนเองอยากให้มีการต่อยอดเพิ่มขึ้นมานั้นก็คืออยากให้จังหวัดอุทัยธานีเป็นสนามการประมูลควาย หรือแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน ซึ่งในอุทัยธานีนั้นของเราก็ถือว่าเป็นตลาดซื้อขายควายที่ใหญ่ที่สุดอยู่แล้ว จึงอยากให้ตรงนี้เป็นตลาดซื้อขายควายงาม หรือเป็นตลาดประมูลเพิ่มขึ้นมา อย่างภายในงานปีนี้มูลค่าควายที่แต่ละฟาร์มนำมารวมกันในงานครั้งนี้ ต้องบอกว่ามูลค่าไม่ต่ำกว่าพันล้านอย่างแน่นอน เพราะบางตัวก็ตีมูลค่าไม่ได้อีกด้วย
ด้านนายกฤษฎา ซักเซด นายกสมาคมพัฒนาพันธุ์ควายไทย กล่าวถึงผลภาพรวมงาน ว่าการจัดงานของเรานั้นยิ่งใหญ่และคึกคักมากขึ้นทุกปี ซึ่งปีนี้ฟาร์มจากหลายๆจังหวัดทั่วประเทศมาเยอะกว่าปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นของวงการควายไทย ซึ่งการจัดงานในทุกๆปี มักจะมีการซื้อขายควายกันในมูลค่าที่สูง อย่างปีนี้ก็คาดว่าเงินจะสะพัดในงานหลายร้อยหลายพันล้าน
ขณะเดียวกันภายในงาน ยังมีการซื้อขายควายงามและส่งมอบกันในเวทีประกวด โดยมีราคาตั้งแต่ 1.25 ล้านบาทไปจนถึง 3 ล้านบาท และทีมีเซอร์ไพรส์ ยังมีการซื้อขายควายงามราคาสูงถึง 18 ล้านบาท
นับว่าเป็นราคาที่สูงที่สุดในงานประควายในครั้งนี้ และเป็นควายเผือกที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย.