นายกวิศวกรรมสถานฯ ลงพื้นที่ตรวจ เครนโรงงานระยองถล่ม แนะตำรวจสอบคนที่อยู่ในเหตุการณ์ คาด 7 คนตายตกจากที่สูง อยู่บนทาวเวอร์เครนทั้งหมด
จากกรณี เครนก่อสร้างในโรงงานแห่งหนึ่งพื้นที่ ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ถล่มใส่นั่งร้านจนคนงานเสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บหลายราย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา
จนต่อมา แรงงานเมียนมากว่า 400 คน ประท้วงลุกฮือ ไม่ให้เอาศพ กับคนเจ็บออกจากพื้นที่ เพราะทางโรงงานยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ศพละ 5 ล้านบาท
ก่อนที่ต่อมาช่วงกลางดึกวันที่ 29 มี.ค. 67 มีการเจรจาทำสัญญายุติการประท้วงระหว่าง แรงงานเมียนมากับนายจ้างชาวจีน โดยนายจ้างตกลงจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิต ศพละ 1.6 ล้านบาท ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
ต่อมาวันที่ 30 มี.ค. 67 นายวัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เรามากับวิศวกร เพื่อมาดูที่เกิดเหตุของเครนที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น เป็นการก่อสร้างสูง ทาวเวอร์เครน มีการต่อตัวขึ้นไปเรื่อยๆ เราดูที่เกิดเหตุ และสภาพสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดระหว่างเครนก่อตัวเองขึ้น
ซึ่งระหว่างทำงานจะมีการยกตัวเองขึ้น และเสริมข้างล่าง การที่มีคนตกลงมาเสียชีวิต 7 คน แสดงว่าดูระหว่างการประกอบชิ้นส่วนบางอย่างน่าจะเป็นการยกเครนขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร จึงได้มีการแนะนำกับทางตำรวจว่าต้องสอบผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังไม่เสียชีวิต เพราะคนที่อยู่ใกล้ชิดน่าจะเสียชีวิตกันหมดแล้ว ต้องสอบถามว่าตอนนั้นทำอะไรอยู่ ซึ่งจะเกิดได้จากหลายอย่างเช่น ชิ้นส่วนผิดปกติไม่แข็งแรง ตัวซัพพอร์ทที่ยึดทาวเวอร์เครนกับอาคารอาจจะหล่นหรือไม่ หรือเกิดจากการการกระทำที่ไม่รอบคอบของคน เช่น การดันขึ้นไปอย่างไม่ถูกวิธี ซึ่งขั้นตอนลักษณะนี้ต้องมีวิศวะกรเครื่องกลที่มีประสบการณ์คอยควบคุม
ในจุดที่เครนเกิดอุบัติเหตุอยู่ที่ระดับความสูงเท่าไหร่นั้น มีการประเมินว่าน่าจะ 30-50 เมตร ซึ่งเป็นหอสูง และมีลักษณะเป็นปล่องของการหลอมโลหะ ซึ่งปล่องนี้อยู่บนเนินเขา ซึ่งจะขึ้นไปสูง และการล้มลงมา พบว่าอยู่ระดับต่ำกว่าระดับของฐานทาวเวอร์เครน
นายวัชรินทร์ กล่าวต่อว่า คราวที่แล้วมีรายงานว่า เครนเหมือนกันนั้น เราไม่ทราบเรื่อง โดยภาพรวมประเทศไทยระหว่างการก่อสร้าง และมีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรกันเยอะ ที่ผ่านมาก็มีการเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายมีควบคุมไว้หมด มีพระราชบัญญัติมีกฎกระทรวง แต่ปัญหาคือเมื่อเราทำงานได้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับหรือไม่
เมื่อถามว่าเบื้องต้นเครนที่เกิดอุบัติเหตุที่นั้นเป็นของบุคคลใด นายวัชรินทร์ กล่าวว่าตนไม่ทราบ แต่ด้วยความเป็นโรงงานของคนจีน หากคาดเดาก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่มาจากประเทศจีน ส่วนระบบเซฟตี้ป้องกันความปลอดภัย ต้องขึ้นไปดูข้างบน แต่ตอนนี้ ด้วยความสูงพอสมควร ตนยังไม่สามารถปีนขึ้นไปดูได้ โดยด้านล่างจะมีฐานของเครน แต่ตัวที่หมุนตกตกลงมายังอยู่ด้านบน และตัวซัพพอร์ต ก็ยังผูกยึดกับเครื่องจักร
เมื่อถามว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นเครนได้มาตรฐานหรือไม่ นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ไม่อยากให้ความเห็นด้วยการเห็นด้วยตา ซึ่งเราจะให้วิศวกร ที่มีความรู้เรื่องเครนเข้ามาดูและตรวจสอบรอบ ส่วนจะมีการตรวจสอบย้อนหลังเหตุการณ์นี้หรือไม่นั้น เราไม่ใช่หน่วยงานราชการ แต่หากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงาน ประสานเข้ามา เราก็สามารถที่จะเข้ามาช่วยดูแลตรวจสอบได้
ส่วนที่บอกว่าปกติเครนจะมีผู้บังคับเครนอยู่ 1 คน แต่วันที่เกิดเหตุ ปรากฏว่ามีอยู่ถึง 7 คนนั้น นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ปกติทาวเวอร์เครนจะใช้ในการควบคุมพื้นที่สูงจะมีคนบังคับหนึ่งคน ซึ่งมีการเตรียมกระบอกขึ้นไปเพื่อใช้ในการปัสสาวะ และอยู่ข้างบนทั้งวัน และเมื่อทำงานไปเรื่อยๆ มีการเพิ่มความสูงจะต้องมีการยกตัวขึ้น จังหวะยกตัวขึ้นจะระบบไฮดรอลิคดัน และเอาเสาเข้ามาเสริมข้างล่าง ซึ่งตรงนี้จะต้องใช้คนเยอะ
ดังนั้นที่ระบุว่ามีคนหล่นเข้ามาเสียชีวิต ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าจะอยู่ระหว่างการยกและเท่าที่ถามจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าเป็นการตกจากข้างบน ส่วนนั่งร้านข้างล่างจะพบว่าเป็นกองวัสดุ พร้อมย้ำว่า เราแนะนำกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องถามคนที่เห็นเหตุการณ์ในตอนนั้นว่าเครนกำลังทำอะไร ส่วนเครนที่มีอยู่ปัจจุบัน ยังไม่ได้รับความเสียหาย จะต้องมีการตรวจสอบเรื่องของความปลอดภัย และด้านหลังโรงงานขณะนี้อยู่ในความสงบ หยุดทำงาน ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใดๆ ซึ่งคนมองว่าควรหยุดจนกว่าจะมีความมั่นใจ โดยเฉพาะเครนที่ยังทำงานอยู่ ต้องมีการตรวจสอบว่ามีความมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ ก่อนที่จะทำงานต่อ สำหรับระยะเวลาการตรวจสอบสำหรับเครนตัวเดียวคงใช้เวลาไม่นาน และสำหรับกฎหมายความสูงของเครนนั้น ไม่ได้มีการครอบคลุม แต่ระหว่างการปฎิบัติงานต้องมีวิศวะกรผู้เชี่ยวชาญเรืองเครนกำกับควบคุมดูแลตลอด