บันทึกข้อตกลง 8 ข้อยุติศึก แรงงานพม่ากับนายจ้างชาวจีน ขณะที่ตำรวจเตรียมตรวจสอบป่าปาล์มหลังโรงงาน ให้สิ้นข้อสงสัย
จากกรณี เครนก่อสร้างในโรงงานแห่งหนึ่งพื้นที่ ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ถล่มใส่นั่งร้านจนคนงานเสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บหลายราย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา
จนแรงงานเมียนมากว่า 400 คน ประท้วงลุกฮือ ไม่ให้เอาศพ กับคนเจ็บออกจากพื้นที่ เพราะทางโรงงานยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ศพละ 5 ล้านบาท
ก่อนที่ต่อมาช่วงกลางดึกวันที่ 29 มี.ค. 67 มีการเจรจาทำสัญญายุติการประท้วงระหว่าง แรงงานเมียนมากับนายจ้างชาวจีน โดยนายจ้างตกลงจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิต ศพละ 1.6 ล้านบาท ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
ต่อมาวันที่ 30 มี.ค. 67ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ยังคุกรุ่นเป็นระยะๆ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนแรงงานพม่าจาก WAG และตัวแทนจากสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมวางแนวทาง เพื่อยุติปัญหาต่างๆภายในโรงงาน โดยได้มีการประชุมร่วมกันกับตัวแทนของบริษัทชาวจีน ใช้เวลาประชุมวางแนวทางร่วมกันประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนจะมีการแถลงรายละเอียดต่อสื่อมวลชน
นายกำธร เวหน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ระบุว่า วันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวได้เข้ามาพูดคุย เพื่อทำให้ความต้องการ และข้อเรียกร้องของแรงงานเมียนมา และทางบริษัท ได้รับความพอใจตามความประสงค์ ซึ่งเป็นการพูดคุย 3 ฝ่าย คือ ผู้แทนบริษัท ผู้แทนลูกจ้าง และฝ่ายข้าราชการ โดยภายหลังการหารือ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง 8 ข้อ
การพูดคุยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีการบันทึกการปรึกษาหารือ คือ 1.เงินเยียวยาผู้เสียชีวิตจำนวน 7 ราย รายละ 1.6 ล้านบาท ที่เมื่อวานนี้ได้มีการมอบเงินสดให้กับญาติผู้เสียไปแล้วจำนวน 5 แสนบาท คงเหลือ 1.1 ล้านบาท 2.นายจ้างจะรับผิดชอบค่าจัดการทำศพลูกจ้างที่เสียชีวิตทั้ง 7 ราย 3.กรณีให้สำนักงานประกันสังคมตรวจสอบเงินประกันสังคมของลูกจ้าง ที่มีการร้องเรียนว่าถูกหักเงินทุกเดือน แต่ไม่มีการนำส่งให้สำนักงานประกันสังคม จนทำให้ลูกจ้างไม่สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ โดยให้ทำการตรวจสอบและดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์
4.กรณีลูกจ้างมีข้อเรียกร้อง เกี่ยวกับลูกจ้างที่ประสบอันตราย สูญเสียอวัยวะ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยให้สำนักงานประกันสังคมตรวจสอบและดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์เช่นกัน 5.ให้มีการตรวจสอบ กรณีลูกจ้างส่งเบิกค่ารักษาพยาบาลกับนายจ้าง แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ให้ตรวจสอบข้อมูลภายใน 2 สัปดาห์ 6.กรณีข้อร้องเรียน เรื่องนายจ้างยึดพาสปอร์ตของลูกจ้างเอาไว้ ตรงนี้ตกลงกันว่าจะให้เก็บไว้ที่ส่วนกลางของบริษัท แต่จะมีการถ่ายเอกสารให้ลูกจ้างเก็บไว้ หากออกจากงานนายจ้างก็จะต้องคืนพาสปอร์ตให้ 7.กรณีลูกจ้าง 3 คน มีข้อสงสัยว่านายจ้างจะเลิกจ้าง ส่วนนี้ให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ไปตรวจสอบสิทธิของลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด 8.นายจ้างรับว่าจะปฏิบัติตาม ให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฏหมายคุ้มครองคุ้มครองแรงงาน
สำหรับบันทึกข้อตกลงนี้ มีผู้ร่วมลงชื่อประกอบทั้งฝ่ายนายจ้างฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนจากภาครัฐ
ส่วนเรื่องคดี พ.ต.อ.จิราวัฒน์ ศักดิ์ศรีวัฒนา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง ชี้แจงว่า ยังไม่สามารถระบุสาเหตุเบื้องต้นของการเกิดเครนถล่มได้ แล้วยังต้องรอผู้เชี่ยวชาญและกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุก่อน โดยยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ในตอนนี้ รวมถึงกรณีมีกระแสข่าวเรื่องการฝังศพแรงงานในป่าปาล์มด้านหลังด้วย ซึ่งตำรวจจะทำการตรวจสอบให้สิ้นข้อสงสัยทั้งหมด
ทั้งนี้ทีมข่าวได้สอบถามข้อมูลจากตัวแทนสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย บอกว่า จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมหารือกันในวันนี้ มีความกังวลใจเรื่องเดียว คือ กรณีการยึดหนังสือเดินทางของแรงงาน เพราะตรงนี้มีข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐว่าหนังสือเดินทางจะต้องอยู่ที่ตัวของแรงงาน และต้องเก็บรักษาไว้เอง ส่วนข้อตกลงที่ว่าจะมีการถ่ายเอกสารเป็นสำเนาให้กับแรงงานเก็บไว้นั้น ก็ยังมีความกังวลใจอยู่ดีและเป็นห่วงอยู่ดี เนื่องจากตามข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ แรงงานจะต้องถือหนังสือเดินทางตัวจริงเท่านั้น