สสส.และเครือข่ายงดเหล้า เดินหน้าต่อเนื่อง “ปลูกพลังบวก”สร้างภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่ ปฐมวัย ตั้งเป้าขยาย พท.เพิ่ม 5 จว.
ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ปีที่ 7 ในการสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง เหล้า-บุหรี่ ในเด็กปฐมวัย ภายใต้โครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ด้วยทุกหน่วยงานต่างเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการปลูกต้นกล้าให้แข็งแรงซึ่งเปรียบเสมือนเด็กปฐมวัยให้เติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในอนาคต ดังนั้น หากต้นกล้าไม่สมบูรณ์แข็งแรงก็ยากที่เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้
ปัจจุบันพบว่ามีนักสูบบุหรี่ นักดื่มเหล้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ในช่วงอายุ 13 -15 ปี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.96 มีนักสูบบุหรี่ นักดื่มที่มีอายุน้อยลง มีอัตราเพิ่มขึ้น เช่น เด็ก 7 ปี เริ่มดื่มเหล้า ทั้งยังพบว่า คนไทยดื่มเหล้ามากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (องค์การอนามัยโลก) จากการรณรงค์เมาไม่ขับ ของ สคล.- สสส.และรัฐบาล ในเทศกาลสงกรานต์ จะเห็นว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากขึ้นทุกปี โดยมีสาเหตุหลัก คือ เมาแล้วขับ ซึ่งส่งผลเสียหายอย่างมหาศาลกับชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของชาติ จากข้อมูลจะเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยง เรื่องเหล้า และบุหรี่ มีเพิ่มขึ้นในเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะที่สำคัญคือ ปัจจัยเสี่ยงเริ่มมีอายุน้อยลงมาถึงเด็กปฐมวัย
จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ โครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย ในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็กปฐมวัย ไม่ให้มีปัจจัยเสี่ยง เรื่อง สุรา และ บุหรี่ ด้วยการพัฒนาเด็กให้มีสุขภาพดี มีทักษะชีวิต มีทักษะการคิด มีเหตุผล รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง และสามารถแยกแยะ สิ่งที่ดีกับสิ่งไม่ดี รู้จักปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดี ผ่านสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบที่เด็ก ๆ สามารถฝึกสติผ่านการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัย เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ช่วยปกป้องเด็กจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพได้อย่างรอบด้าน
นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรรมการกองทุนฯ และรองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 กล่าวว่า ระบบนิเวศของเด็กปฐมวัยไม่มีความซับซ้อนเลย เด็กจะมีครอบครัว ญาติ และคุณครูที่ศูนย์เด็กเล็กเท่านั้น เราสามารถที่จะปลูกฝังค่านิยมหรือหลักคิดที่เรียกว่า Critical Thinking การคิดที่มีลักษณะของการประเมิน ใช้ดุลพินิจ วิเคราะห์แยกแยะ ได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ซึ่งวัยนี้เป็นช่วงวัยสำคัญมาก ประเทศต้องลงทุนกับเด็ก ๆ เหล่านี้ ให้เขามีความแข็งแรง ถ้าเราไม่สร้างภูมิคุ้มกันให้เขาเมื่อเด็กกลับไปสู่ระบบระบบนิเวศเดิม ๆ เด็กจะถูกกลืนอยู่กับความเคยชินที่ว่า เหล้า-บุหรี่ เป็นเรื่องปกติ แต่หากเด็กมีภูมิคุ้มกันพวกเขาจะไป Empower ผู้ใหญ่ให้ลด ละ เลิก ได้ เหล้า-บุหรี่ ได้ “โครงการปลูกพลังบวกฯ เป็นโมเดลที่ดีมาก ๆ ที่ได้เชิญชวนศึกษานิเทศก์วัยเกษียณ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า มีความรู้ ความสามารถมาช่วยกันทำงาน การได้อดีตสายการศึกษามาร่วมทำงาน แต่ละท่านจะรู้ว่าการทำงานกับเด็กปฐมวัยต้องทำอย่างไร และต่างตระหนักดีว่า ถ้าปล่อยให้เด็กเติบโตแบบไร้ทิศทางไม่รู้ว่าจะตกไปอยู่ในอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงเรื่องใดบ้าง หลังจากนี้จะกลับไปหารือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษา เพื่อหาหนทางขยายโมเดลนี้ไปยังระดับประถมศึกษาและมัธยมขึ้นไป เพราะทุกช่วงวัยล้วนมีผลต่อเนื่องกัน” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นางสาวมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการปลูกพลังบวก ฯ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าว่า ปี 2566-2567 ได้ขยายโครงการฯ เพิ่ม ในพื้นที่ 5 จังหวัด จำนวน 574 แห่ง ประกอบด้วย เลย เชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์ สงขลา รวมทั้งสิ้น ณ ปัจจุบัน มีจำนวน 1,989 สถานศึกษา กว่า 5,967 ห้องเรียน การดำเนินงานต่อจากนี้ จะปรับปรุงชุดพัฒนาผู้เรียนพร้อมทั้งขยายประเด็นเพิ่มขึ้นจากเหล้า บุหรี่ เพิ่มประเด็นยาเสพติด (กัญชา ยาบ้า น้ำกระท่อม) ทำคู่มือการดำเนินงานจัดกิจกรรมปลูกพลังบวกฯ และขยายสถานศึกษาเครือข่ายเพิ่ม รวมถึงพัฒนากลไกคณะทำงานในระดับภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันออก-ตะวันตก และภาคใต้ เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาค พร้อมทั้ง ส่งเสริมสถานศึกษาเดิมให้มีคุณภาพด้วยการนิเทศติดตาม เสริมหนุน และยกระดับให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบและแหล่งเรียนรู้
รวมทั้งสนับสนุนให้สถานศึกษามีกิจกรรมสร้างสรรค์และนวัตกรรมการศึกษาลดปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติด และจะจัดกิจกรรม เชิดชูเกียรติ คนทำงานทั้งคณะทำงาน ครูผู้สอน สถานศึกษา โดยจะมีการจัดนิทรรศการของแต่ละสถานศึกษา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โดยล่าสุดจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โชว์ แชร์ เชื่อม เชิดชูเกียรติ” ครูปฐมวัยและผู้บริหารสถานศึกษา ระดับภูมิภาค ภาคเหนือ ที่ จังหวัดน่าน มีสถานศึกษาที่เป็นแหล่งเรียนรู้เข้าร่วมจัดนิทรรศการ 8 แห่งจากจังหวัดน่าน และ 1 แห่งจากจังหวัดแพร่ และมีครูเข้าร่วมงานจำนวน 450 คน
นางมาลี นวนแปง ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองน่าน (ศพด.ทม.น่าน) เผยถึงความรู้สึกในโอกาสที่บูธได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากผู้เข้าร่วมงาน ว่า ดีใจมาก ๆ กับสิ่งที่ตั้งใจออกแบบพัฒนาสื่อการเรียนรู้มาโชว์และแชร์ในครั้งนี้ สื่อที่เราพัฒนาต่อยอดจากโครงการฯ เวลาออกแบบจะพยายามคิดรูปแบบที่ให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน อย่างเช่น มหัศจรรย์ไฟสัญญาณ เด็ก ๆ จะชอบมากเลย เราจะมีแผ่นตารางซึ่งจะมีรูป เหล้า บุหรี่ ผัก ผลไม้ ท๊อฟฟี่ ฯลฯ พอเด็กเดินไปที่ช่อง เหล้า เราก็จะกดไฟแดงพร้อมทั้งอธิบายว่าห้ามกินอันตรายต่อสุขภาพ ผักผลไม้ ไฟเขียว สามารถกินได้ และ ท๊อฟฟี่ จะเป็นไฟหลือง เด็กจะรับรู้ว่ากินได้แต่ไม่ควรกินเพราะจะทำให้ฟันผุ เราจะสอนแบบซ้ำ ๆ เหมือนเดิมทุกวัน ทำ ซ้ำ ย้ำ ทวน อย่างนี้ไป การปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกัน ต้องทำอย่างเข้มข้นต่อเนื่องอย่างน้อย 21 ครั้ง จึงจะเกิดผล (ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ) ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะติดตัวเด็กไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
นางสาวจิรภา เทียนทองมงกล โรงเรียนวัดบ้านหล่า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สฟบ.ชม.เขต 2) กล่าวว่า ต้องขอบคุณ เครือข่ายงดเหล้าที่จัดงานนี้ขึ้นมา ทำให้เราได้มาเห็นและได้เรียนรู้รูปแบบสื่อการสอนแบบใหม่ๆ เพื่อนำกลับไปพัฒนาเพิ่มเติม โรงเรียนของเราเพิ่งเข้าโครงการฯ และผู้บริหารให้ความสำคัญมาก บรรจุเข้าในแผนการศึกษาฉบับเพิ่มเติมของโรงเรียนเลย ตอนแรกก็นำชุดสื่อการสอนของโครงการพลังบวกฯ มาใช้เลย ต่อมาก็เริ่มพัฒนาเป็นชุดสื่อการสอนของเราเอง ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ตั้งกลุ่มเฟสบุคและกรุ๊ปไลน์ครู-ผู้ปกครอง ทุกวันศุกร์ให้เด็กเอานิทานและแบบวาดรูปกลับบ้านไปทำกับผู้ปกครอง ๆ ถ่ายคลิปวิดีโอส่งกลับมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งจะเป็นการโน้มน้าวผู้ปกครองในทางอ้อม
“กลับจากงานนี้จะผลิตสื่อให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อส่งเสริมทักษะทางสมองของเด็ก (Executive Function : EF) ตอนนี้มีสื่อการสอนของตนเองเรียกว่า จิรภาโมเดล และเตรียมขยายผลไปยังศูนย์เด็กเล็กรอบ ๆ โรงเรียนของเราและมีแผนจะขยายไปยังโรงเรียนบนดอยด้วย อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของเด็กปฐมวัย และให้ความสำคัญของโครงการนี้ แล้วก็สนับสนุนคุณครูทุกโรงเรียนที่มีเด็กเล็ก ไม่ใช่แค่โรงเรียนที่สนใจเขาร่วมโครงการฯเท่านั้น อยากให้โครงการปลูกพลังบวกฯ เป็นนโยบายที่เข้าถึงทุกโรงเรียนที่มีเด็กปฐมวัยเลย”นางสาวจิรภา กล่าวในตอนท้าย