เมนูใหม่ กุ้งอบมอเตอร์ไซค์ ลืมทิ้งไว้ใต้เบาะ อากาศร้อนจัดเปิดดูถึงกับอึ้ง กุ้งเป็นสีส้มแล้ว "อ.อ๊อด" มองกุ้งแค่เปลี่ยนสีจากความร้อน แต่ไม่ถึงขั้นสุกโดยเนื้อภายใน
จากกรณีเป็นที่ผู้ใช้ติ๊กต๊อกได้โพสต์คลิปวิดีโอลงโซเชียล พร้อมติดแฮชแท็ก “แดดประเทศไทย แดดภูเก็ตร้อนมาก หลังจากที่ซื้อกุ้งสดมาแล้ว ใส่ไว้ใต้เบาะรถจักยานยนต์ แต่ลืมนำกุ้งออก รถจอดตากแดดไว้ รู้ตัวอีกทีไปดูถึงกับอึ้ง กุ้งกลายเป็นสีส้ม เหมือนสุกแล้ว”
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับผู้โพสต์ชื่อ นายกรภัควัฒน์ ภูวนัยประดิษฐ์ อายุ 19 ปี เรียนอยู่ที่อาชีวศึกษาภูเก็ต แผนกอาหารและโภชนาการ เล่าว่าซื้อกุ้งมาตอน 8 โมงกว่าใส่ใต้เบาะรถเพื่อนแล้วขับมาที่โรงเรียน หลังจากนั้นแล้วลืมไว้ใต้เบาะพอประมาณเที่ยงกลับมาที่รถแล้วเปิดเบาะและก็มีกลิ่นขึ้นมาหน่อยๆ เลยรู้สึกว่าอาจจะไม่ปลอดภัยจึงนำไปทิ้งแล้ว
ทีมข่าวเองได้สอบถามไปยัง รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พูดถึงกรณีดังกล่าว ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นหากมองจากภายนอกที่มีการเปลี่ยนสีของเปลือกกุ้งจากสีฟ้าขุน เป็นสีส้มนั้น จนทำให้มองว่าเนื้อกุ้งอาจจะสุก ส่วนนี้ตนยังไม่เห็นว่าเนื้อกุ้งจริงแล้วมีความสุกหรือไม่
แต่หากมองจากเปลือกภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสี หากมองว่านอกเหนือจากความร้อนแล้วในมุมของวิทยาศาสตร์จะมีการเปลี่ยนแปลงของสีเปลือกกุ้งได้จากปฎิกิริยาทางเคมี ที่ชื่อว่า "ปฏิกิริยาเมลลาร์ด (Maillard reaction)" เป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างกรดอะมิโน (Amino acid) และน้ำตาลรีดิวซ์ (Reducing sugar) โดยมีความร้อนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งผลที่ได้จากปฏิกิริยานั้นจะเป็นสารประกอบที่ให้สีน้ำตาล รวมทั้งมีกลิ่นและรสต่างๆ เช่น สีน้ำตาลที่เกิดขึ้นระหว่างการอบ การย่าง ซึ่งมีปัจจัยได้หลายแบบ อีกทั้งในส่วนของตัวกุ้ง และอาหารทะเลบางชนิดจะมีสารแอสตาแซนทิน ที่ทำปฏิกิริยาทางเคมีทำให้กลายเป็นสีส้ม
ส่วนตัวมองว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นน่าจะส่งผลให้กับแค่ตัวบริเวณภายนอกเปลือกกุ้ง แต่อาจจะไม่ส่งผลถึงขั้นทำให้กุ้งซึ่งมีสารโปรตีนเป็นหลักสุกขึ้นมาได้ จากอุณหภูมิแค่ 30 องศาเท่านั้น มองว่าเคสนี้เป็นการเปลี่ยนสีแค่ภายนอกไม่ได้เป็นการทำให้กุ้งสุกตามที่เป็นข่าว เชื่อว่าเคสดังกล่าว สามารถนำไปประกอบอาหารทำให้สุกได้ตามปกติไม่น่าจะมีผลอันตรายหรือมีสารปนเปื้อน