โครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงของ ตอกเสาเข็มขุดเจอซากวัดร้าง กรมศิลป์เข้าเคลียร์พื้นที่เจออิฐดินเผา โบราณวัตถุอายุราว 400-500 ปี ด้านชาวบ้านลือที่ดินแรงมีชาวบ้านตายไม่ทราบสาเหตุไปแล้วหลายราย
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 21 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณจุดก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัยเชียงของ หมู่ 3 ต.ทุ่งกวาว อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ พบชาวบ้านทยอยกันมาดูจุดก่อสร้างซึ่งมีการขุดหน้าดินเพื่อตอกเสาเข็ม โดยพบซากก้อนอิฐ ถ้วย ชาม รวมถึงฆ้อง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุหลายร้อยปี โดยมีผู้ใหญ่บ้านกำนันในพื้นที่เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรจังหวัดเชียงใหม่
สอบถามนายสมฤทธิ์ สุขมี ผู้ใหญ่บ้าน ม.3 ต.ทุ่งกวาว เล่าว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่วัดป่าสูงวัดนี้เป็นวัดร้างมานานแล้ว ตั้งแต่ตนจำความได้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่รกร้างก่อนมีการก่อสร้างทางรถไฟมีการสำรวจตั้งแต่สมัยอดีตผู้ใหญ่บ้าน พื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนาเวลาไถนามีการกินพื้นที่ของวัดไปใบโฉดนดนั้นอยู่ที่สำนักพระพุทธศาสนา ก่อนมีการก่อสร้างทราบกันอยู่แล้วว่าที่ตรงนี้เป็นสถานที่สร้างสถานีรถไฟ แต่เรื่องการเวนคืนที่ดินชาวบ้านไม่รู้
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยปู่ย่าก็มีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นชาวบ้านเชื่อว่าเป็นอาถรรพ์ที่แรงมีชาวบ้านนอนเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุหลายราย เมื่อก่อนบริเวณใกล้เคียงนี้มีห้างนาอยู่ก็มีคนนอนเสียชีวิตใกล้ๆ ที่แห่งนี้จะมองว่าอาถรรพ์หรือประจวบเหมาะก็ได้ สมัยก่อนมีชาวบ้านพากันมาขุดจนเกิดเป็นบ่อน้ำขึ้นมา บางครั้งก็มีงูเหลือมเลื้อยมา น้ำบ่อนั้นชาวบ้านก็ยังใช้กันอยู่เมื่อมาทำไร่ทำนาแถวนี้ ภาษาบ้านเรียกที่เค็มตรงนี้ที่มันแรงไม่เคยทำพิธีอะไรเพราะพื้นที่เป็นป่าต้นจามจุรี ป่างิ้วแดง สิ่งที่แสดงว่าเป็นวัดอยู่คือชาวบ้านไถนาแล้วพบลูกนิมิตรอยู่กลางทุ่งนา เท่าที่ตนจำความได้ก่อนหน้านี้ลุงคนเลี้ยงวัวอยู่ที่นี่แกค้นพบกระดิ่งแล้วแกนำมาห้อยคอไว้ดูจากกองดินแล้วน่าจะขุดลงไป 2-3 เมตร แล้วนำดินมากองไว้ตรงนี้
ทางด้านนายเทเวศ นามจะโปะ กำนันตำบลทุ่งกวาวกล่าวว่า พื้นที่ตำบลทุ่งกวาวนั้นจากการสำรวจพบว่ามีวัดร้าง 2 แห่งวัดแรกเป็นวัดพระธาตุเจดีย์ร้าง ซึ่งมีการบูรณะไปแล้ว แต่วัดตรงนี้เป็นวัดที่ยุบลงไปแล้วมีโฉนดแต่ไม่มีผู้ครอบครอง มีการขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้างส่งมอบให้สำนักพระพุทธศาสนาไปแล้ว
นายชินณวุฒิ วิลยาลัย ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เผยว่าเบื้องต้นเจอโบราณสถานแล้ว ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจและประสานการรถไฟ ซึ่งทางด้านทางรถไฟก็ได้มากั้นเส้นขาวแดงไว้ให้แล้ว ต่อไปก็จะต้องมาคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ประกอบกับความต้องการของชาวบ้านว่าต้องการอนุรักษ์สถานที่ตรงนี้ไว้เช่นไร ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ทราบแนวเขตสิ้นสุดของรถไฟอยู่ตรงไหน ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไปในเดือนสองเดือนนี้
นอกจากนี้จะต้องลงพื้นที่เข้ามาสำรวจและติดตามสอบถามหาโบราณวัตถุที่ชาวบ้านเจอช่วยเก็บและอนุรักษ์ไว้ ซึ่งจากนี้จะต้องประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน ในเรื่องของงานศิลปากรแล้วนั้นยังมีชาวบ้านที่อยากจะทราบเขตชัดเจนของทางรถไฟและจะเข้าไปรบกวนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านด้วยหรือไม่ต้องมานั่งคุยกัน เบื้องต้นนี้พบวัตถุโบราณเท่าที่ทราบเห็นจากภาพที่ลงนั้นเป็นพระพิมพ์ปกโพธิ์ ซึ่งโพธิ์นี้หักไปแล้ว ชิ้นส่วนก้อนของดินเผาหลายชิ้น และอิฐที่มีลายอักษรและลวดลายต่างๆซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นในส่วนของดินชั้นบนซึ่งเห็นว่ามีกองดินใหญ่อยู่คาดว่าจะเจออีกมาก ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอายุกว่าเกือบ 400-500 ปีได้
ครูปนัดดา สุทธิลักษณ์ ครูในหมู่บ้านนาแหลมเล่าว่า เมื่อก่อนสถานที่ตรงนี้รกร้างมาก ซึ่งตอนนั้นทางด้าน ผอ.เทิด เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้ามาดูที่เรื่องวัดพระธาตุเจดีย์ ท่านก็เล่าถึงวัดป่าสูงให้ฟังแล้วท่านอยากจะมาดู ซึ่งตรงนี้เขาเลี้ยงวัวชนและเข้ามาไม่ได้ก็ไปถางอีก เส้นทางเข้ามามีฐานพระธาตุที่เป็นก้อนอิฐใหญ่อยู่ 2 ฐาน ประมาณจุดนี้ยังมาไหว้ศาลเพียงตาอยู่ซึ่งตอนนั้นรกมาก ทุกครั้งที่จะเข้ามาสำรวจหรือทำกิจกรรมอะไรต้องให้ผู้หญิงเข้ามาจุดธูปบอกกล่าวซึ่งเราไม่เคยเข้ามาเพียงแต่รู้ว่าเป็นวัดตรงนี้แต่ตอนนั้นจำเป็นต้องมา
อย่างไรก็ตาม จากนี้จะต้องติดตามความคืบหน้าว่าทางด้านของกรมศิลปากรจะเข้ามาดำเนินการอย่างไรกับโบราณสถานที่ขุดพบในครั้งนี้ต่อไป