ผอ.ขสมก. โต้สหภาพฯ ร้องปลดจากตำแหน่ง ปมรถ NGV 486 คันจอดตาย

24 เม.ย. 67

 

ผอ.ขสมก. โต้สหภาพฯ ร้องคมนาคมปลดจากตำแหน่ง ปมรถ NGV 486 คันจอดเสีย แจงทำตามระเบียบ เผยโยกรถสายอื่นช่วยปชช.ไม่กระทบ 

วันที่ 24 เม.ย. 67 นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวถึงประธานสหภาพฯ ขสมก.ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ร้องเรียนให้ปลดหรือย้าย และตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ กรณีรถโดยสาร NGV จำนวน 486 คันจอดเสีย และการบริหารงานล้มเหลว ทำให้ ขสมก.เสียหายนั้นว่า 

การบอกเลิกสัญญาเหมาซ่อมรถ NGV จอดเสีย 489 คัน ได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วว่าคู่สัญญาเป็นคนทำผิดสัญญา คือรถเสียแล้วไม่ได้ซ่อมและไม่ได้ส่งมอบรถให้ ขสมก.เพื่อไปออกวิ่งให้บริการประชาชน ซึ่งหากเขาไม่ได้ส่งมอบรถที่มีความปลอดภัยมา ก็ไม่สามารถที่จะเอาความเสี่ยงไปให้ประชาชน 

นายกิตติกานต์ กล่าวว่า ขสมก.รับรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ 29 ธ.ค. 66 จากนั้นก็มีหนังสือ แจ้งไปยังบริษัทหลายรอบ เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการตามสัญญา แต่ทั้งนี้กระบวนการบอกเลิกสัญญาต้องมีขั้นตอนที่ต้องทำการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งขั้นตอนหลักๆ คือ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะต้องรายงานให้ผู้อำนวยการหรือตนทราบถึงสาเหตุ และความเห็นในการบอกเลิกสัญญา ซึ่งคณะกรรมการได้รายงานมาในวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา และการบอกเลิกสัญญามีอยู่ข้อหนึ่งที่เป็นประเด็นระบุว่า หากมีข้อพิพาท หรือข้อโต้แย้งต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด ขสมก. ก่อน 

แต่บอร์ด ขสมก.ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปลายเดือน ก.พ. จึงได้นำเรื่องนี้บรรจุเข้าในวาระของการประชุมบอร์ดในครั้งแรก ในวันที่ 5 มี.ค. และที่ประชุมบอร์ดมีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายจึงอยากให้เข้าสู่คณะกรรมการกฎหมาย เพื่อไปพิจารณาก่อนซึ่งคณะกรรมการกฎหมาย ได้มีความเห็นกลับมาว่าให้ ขสมก. ดำเนินการตามข้อ 22 ของสัญญาควบคู่กันกับการบอกเลิกสัญญา 

ซึ่งข้อ 22 ของสัญญาคือกรณีที่มีข้อพิพาทกัน ให้เชิญคู่สัญญาหรือกลุ่ม ช ทวี มาพูดคุยกันก่อนว่ามีความเข้าใจตรงกันหรือคลาดเคลื่อนกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องร้อง โดยทาง ขสมก.ได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้ว และมีหนังสือแจ้งไปตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. พร้อมกับเชิญตัวแทนบริษัทเข้ามาประชุมวันที่ 17 เม.ย.น แต่เขาไม่ได้เข้ามาประชุม และได้ทำหนังสือเข้ามาชี้แจงแทนว่ามีความประสงค์ตามเจตนาตามเดิมที่เคยยื่นบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ซึ่งจริงๆแล้วตรงนี้คือสัญญาของรัฐที่มุ่งเน้นให้บริการสาธารณะมีความต่อเนื่อง 

ดังนั้นการที่เอกชนบอกเลิกสัญญาทางรัฐก่อนก็อาจจะทำไม่ได้ เมื่อเขาไม่ประสงค์ที่จะดำเนินการซ่อมให้ ขสมก.ต่อ หรือไม่มีความประสงค์ที่จะทำอะไรตามสัญญา ก็ถือว่าเราบริหารสัญญาโดยสุจริตแล้ว และยังให้โอกาสกลุ่มบริษัทดังกล่าวในการที่จะมาพูดคุยกัน แต่ไม่มา ขสมก.จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่การวินิจฉัยของบอร์ด เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมามีความ เห็นว่าให้เดินตามอนุกฎหมายแนะนำ คือบอกเลิกสัญญาตามข้อ 21.2 วินิจฉัยว่าให้เดินตามขั้นตอนที่อนุกกฎหมายกำหนดไว้ ซึ่ง ขสมก.ก็ได้ดำเนินการครบขั้นตอนหมดแล้ว และตอนนี้อยู่ระหว่างตนลงนามหนังสือบอกเลิกสัญญา และแจ้งไปยังกลุ่มคู่สัญญาให้เขารับทราบภายในสัปดาห์นี้ 

นายกิตติกานต์ กล่าวว่า จากนั้นหลังจากบอกเลิกสัญญาแล้ว ขสมก.จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการ tor ขึ้นมา เพื่อ จัดทำตัวข้อกำหนดและโครงการเกี่ยวกับการจ้าง ฟื้นฟูและซ่อมแซม บำรุงรักษาตัวรถกลุ่มนี้ให้นำมาใช้งานให้เร็วที่สุด  

"ในระหว่างที่เราดำเนินการบอกเลิกสัญญาการให้บริการสาธารณะ ขสมก.มุ่งเน้น ให้มี การบริการอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ารถจะจอดเสีย กว่า 400 คัน ขสมก. ผู้บริหารทุกคน กลุ่มคนใช้รถเมล์ ได้ประชุมร่วมกัน เพื่อจัดทำแผนการเดินรถในแต่ละช่วงเวลาใหม่ มีการโยกย้ายสายรถ จากสายที่มีผลกระทบน้อยมาอยู่ในสายที่ได้รับผลกระทบจากรถ ที่จอดเสีย  

และจากการดำเนินการทั้งหมดเราก็มีการประเมินผลทุกๆ สัปดาห์ จากสถิติผู้โดยสารกับเรื่องร้องเรียนก่อนรถจอดเสีย มีผู้โดยสาร 650,000 คนต่อวัน หลังจากมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายสายรถ เริ่มทำวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ประเมินผลเมื่อวาน มีผู้โดยสาร 630,000 คน ซึ่งไม่ได้ลดหย่อนหรือแตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่แน่นอนว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ทางขสมกจะประเมินผลเป็นระยะ”  

นายกิตติกานต์ กล่าวว่า นอกจากนี้สหภาพ ได้เคยสอบถามมาแล้วหลายรอบ และสอบถามทางประธานบอร์ดด้วย ซึ่งได้ชี้แจงให้สหภาพเข้าใจแล้วในแต่ละประเด็นครบถ้วน เลยยังงงว่าทำไมถึงยังต้องไปยื่นหนังสือร้องไปยังผู้บริหารอีก 

ส่วนประเด็นที่ยังไม่ได้แต่งตั้งผู้บริหารระดับรองผู้อำนวยการ และผู้ช่วยผู้อำนวยการ โดยข้อบังคับขององค์การกับพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ขสมก. ตำแหน่งกลุ่มนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดบริหารก่อน ทั้งนี้ ขสมก.ได้แต่งตั้งบุคคลที่มีความพร้อมและความสามารถรักษาการเพื่อทำงานควบคู่กันไปด้วย และเมื่อมีบอร์ดบริหารแล้ว และบอร์ดบริหารได้ประเมินการทำงานของตนแล้ว ถัดจากนี้ไปจะต้องเร่งรัดในการดำเนินการให้เกิดความรวดเร็ว และเหมาะสมแต่ละตำแหน่งที่แต่งตั้ง

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส