กมธ.ความมั่นคง ชงออกบัตรประชาชนรหัสพิเศษให้ผู้ลี้ภัยเมียนมา สกัดปัญหาส่วย ชี้คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในซอกหลืบ
วันที่ 25 เม.ย. 67 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร แถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาว่า
แบ่งเป็น 3 ระยะ 1.ระยะสั้น ปัญหาเร่งด่วนได้ประชุมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ได้ทราบว่าจะมี SOP ฉบับใหม่ เพื่อรองรับสถานการณ์ผู้หนีภัยที่อาจทะลักเข้าสู่ประเทศไทยในจำนวนหลักแสนคน อยู่ระหว่างการรออนุมัติจากรัฐบาล โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งอนุมัติเห็นชอบ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติของทุกหน่วยงาน
2.จะต้องมีการดำเนินการเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในการช่วยส่งของที่จำเป็นในพื้นที่ภายในของเมียนมา หากจะมีความยั่งยืนต้องร่วมมือกับมิตรประเทศ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการทะลักข้ามแดนเข้ามาประเทศไทย 3.อ้างถึงสาเหตุการทะลักข้ามแดนของผู้หนีภัยมาจากแอร์สไตรค์ หรือการโจมตีทางอากาศยาน โดยเห็นว่าประเทศไทยต้องมีการพูดคุย กับทางรัฐบาลเมียนมาว่าการใช้แอร์สไตรค์ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ และอ้างอิงว่าจากข้อมูลที่ได้รับการซื้อขายน้ำมันในประเทศไทยร้อยละ 15 และมีความเป็นไปได้ว่าน้ำมันบางส่วนถูกใช้ในอากาศยาน
“สิ่งนี้เป็นอำนาจต่อรองสำคัญที่ประเทศไทยสามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพและเพิ่มดุลการเจรจากับรัฐบาลเมียนมา หากมีการปฏิบัติก็จะสอดรับกับมติ G7 ว่าไม่ควรขายน้ำมันให้กับทางรัฐบาลทหารเมียนมาอีกต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ในข้อเสนอระยะกลางมีความจำเป็นที่จะต้องเจรจากับทุกฝ่าย เพราะในไทยยังมีปัญหายาเสพติดแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ ซึ่งการเจรจาเป็นกฎหมายหมายสำคัญของการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงสถานะในอนาคตของเมียนมาว่าจะเป็นอย่างไร และเสนอแนะวิธีผู้หนีภัยสู้รบ ผู้หนีภัยเศรษฐกิจ ที่อาจอยู่ในประเทศไทยจำนวนนับ 1,000,000 คน ซึ่งในจำนวน ไม่น้อยต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเห็นว่าควรนำกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาอยู่บนดินอยากถูกต้องตามกฎหมาย
โดยการใช้กลไกออกบัตรรหัสพิเศษ แต่ไม่ได้หมายถึงการให้สถานะเป็นคนไทยหรือให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองปี 2522 ให้ความเห็นชอบผู้ลี้ภัยเข้ามาในราชอาณาจักรได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตสิ้นสุดลง และจำเป็นต้องทำงานเลี้ยงชีพศึกษาต่อ ให้อาศัยอยู่ทำงานได้ชั่วคราว ซึ่งในวิธีการดังกล่าวจะตอบสนองกับภาคเศรษฐกิจในประเทศที่ต้องการใช้แรงงาน
กรรมาธิการพิจารณาที่จะตั้งคณะทำงานและอนุกรรมธิการ เพื่อแก้ปัญหาที่อาจมีความเป็นไปได้ว่ามีปฏิบัติการบางอย่างอันอาจจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานในการฟอกเงินของเครือข่ายที่จะนำไปสู่การซื้ออาวุธ และนำเงินไปใช้ในปฏิบัติการในเมียนมา
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันประเทศไทยสามารถสร้างความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธ์ุที่อยู่บริเวณชายแดนไทย เพื่อสร้างเสถียรภาพสันติภาพในการแก้ไขปัญหาธุรกิจอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ปัญหาฝุ่นควันในชายแดน จัดตั้งเป็นความร่วมมือในชุมชนชายแดน แทนศูนย์ประสานงานเดิมที่ไม่ได้มีตัวแทนจากฝ่ายทหารเมียนมา และเสนอแนะให้ไทยเร่งตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งระดับอาเซียนและระหว่างประเทศเพื่อให้มีการร่วมกันแบ่งปันความรับผิดชอบ
สำหรับข้อเสนอระยะยาวคือการเสนอแนะให้มีการพูดคุยอนาคตของเมียนมา อ้างอิงบทเรียนที่ผ่านมาในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ว่าประเทศไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการสร้างสันติภาพในเมียนมา โดยมั่นใจว่าประเทศไทยยังคงได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายต่างๆและกลุ่มต่างๆ แต่เปลี่ยนแนวทางการทูตเชิงรุก รอบนี้จำเป็นต้องพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ
ทั้งนี้ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงประกอบไปด้วย นายคมกฤช จองบุญวัฒนา ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 2 กรมเอเชียตะวันออก ,นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่ง ,พลโทณัฐพงษ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ,พันเอกฉลวย อ่อนคำ รองผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการกรมยุทธการทหารบก และตัวแทนภาคประชาชน
โดยกรรมาธิการเตรียมลงพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์ในอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 12- 15พ.ค.นี้ และจะมีการเข้าพบเพื่อปรึกษาในประเด็นความมั่นคงชายแดนไทย-เมียนมา ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงการต่างประเทศต่อไป