เลือกสว.67 : เปิดที่มา-ความสำคัญ สว.ชุดใหม่ 200 คน ประชาชนมีส่วนร่วมที่ตรงไหน

2 พ.ค. 67

เลือกสว.67 ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการลงสมัครรับเลือก เมื่อการสรรหาใช้ระบบ ‘เลือกกันเอง’

ด้วยวาระของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ชุดปัจจุบัน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นี้ ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการคัดเลือก ‘สว. ชุดใหม่’ ที่เป็นตัวแทนจากประชาชนอย่างแท้จริงขึ้นมาดำรงตำแหน่ง

เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญถ่วงดุลย์อำนาจ อาทิ พิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ,พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ได้กำหนดจำนวน สว. ไว้ 200 คน ให้มีที่มาจากการ ‘เลือกกันเอง’ ของบุคคล ‘ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆที่หลากหลายของสังคม’ โดย จะมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปีเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือก

โดย สว. ชุดนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ว่า “ประชาชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง โดยไม่ต้องอิงกับพรรคการเมืองเพราะไม่ต้องหาเสียง

การแนะนำตัวกันเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่สมัคร กลไกในลักษณะนี้จะทำให้สว.ปลอดจากการเมือง และได้ตัวแทนมาจากทุกสาขาอาชีพ มาจากคนทั่วประเทศ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็คือประชาชน”

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ขยายความและให้คำจำกัดความของ ‘สว.’ ตามรัฐธรรมนูญว่ามีลักษณะต่างจากสส. ที่เป็นสภาของนักการเมือง เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ว่า สว. เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเป็นกลางทางการเมืองตาม มาตรา114 ของรัฐธรรมนูญฯ มาจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ

ความต่างอีกส่วนหนึ่งคือ สว. คือต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพ และเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งต่างจาก สส.ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปไม่ต้องมีประสบการณ์ในสาขาอาชีพ และเป็นนักการเมืองเต็มตัว

กว่าจะเป็น สว. ประชาชนคือกลไกสำคัญ

เมื่อผู้สมัครรับเลือก สว. ผ่านการตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการและไม่มีลักษณะต้องห้าม จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ในส่วนนี้หมายความว่า ‘ผู้สมัครเท่านั้น’ ที่จะสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครกลุ่มเดียวกันในรอบแรกและเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่น ๆ ในสายเดียวกันในรอบที่สอง จากทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ จนได้สมาชิกครบ 200 คน

โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือก สว. ให้เป็นไปตามรูปแบบและวิธีที่กำหนดเพื่อให้การเลือกเป็นไปโดย ‘ สุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย’

แต่ถึงแม้ประชาชนที่นอกเหนือจากผู้สมัคร สว.จะไม่ได้มีส่วนโดยตรงในการเลือก สว. ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(สำนักงาน กกต.) ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยจะจัดให้มีการถ่ายทอดการเลือกผ่านระบบโทรทัศน์วงจรปิดให้ประชาชนได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้ง 3 ระดับ

คือ ระดับอำเภอ ทุกสถานที่เลือก รวมจำนวน 928 แห่ง ระดับจังหวัดรวมกรุงเทพมหานคร 77 แห่ง และระดับประเทศ 1 แห่ง เพื่อประชาชนจะได้ร่วมกันสังเกตการณ์ ความโปร่งใสของผู้สมัคร และผู้จัดให้มีการเลือก

กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

• พระราชกฤษฏีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ
• กกต. ประกาศกำหนดวันและเวลารับสมัคร และวันเลือกระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ (ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ)
• ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอประกาศกำหนดสถานที่รับสมัคร (วันถัดจากวันที่ กกต. ประกาศ)
• เปิดสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยมีระยะเวลารับสมัคร 5 - 7 วัน (ไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ)
• ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร (ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร)
• การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับอำเภอ (ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร)
• การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับจังหวัด (ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับอำเภอ)
• การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ (ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับจังหวัด)
• กกต. ประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

เราจะรู้จักผู้สมัคร สว.ได้อย่างไร

แน่นอนว่าการเลือก สว.ใช้ระบบ ‘เลือกกันเอง’ แต่ประชาชนในวงนอกเองก็ควรมีสิทธิรู้ว่าสว.ชุดใหม่นี้เป็นใคร มาจากไหน ซึ่งเมื่อผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายกำหนดทำการสมัครเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก สว.แล้ว จะสามารถแนะนำตัวระหว่างผู้สมัครด้วยกันเองได้ เลขาธิการ กกต.ได้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการแนะนำตัว สรุปได้ดังนี้

• ห้ามหาเสียง เช่น การขอคะแนน โดยอาจจัดตั้งไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง เช่น การตั้งกลุ่มไลน์ การจัดตั้งกลุ่มมาสมัคร เพื่อแลกคะแนนเสียงกัน การฮั้ว
• ห้ามนักการเมืองช่วยเหลือให้ได้เป็น สว. อาทิ กรรมการบริหารพรรค หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมือง สส. และนักการเมืองท้องถิ่น
• ให้แนะนำตัวบอกว่าตัวเองคือใคร เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านใด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้ผู้สมัครอื่นตัดสินใจลงคะแนน

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งยังจัดเตรียมช่องทางให้ผู้สมัครและประชาชนสามารถติดตามข้อมูลผู้สมัครผ่านแอปผลิเคชัน Smart Vote หรือเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอีกช่องทางหนึ่งด้วย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีช่องทางติดตามการเลือก สว. ได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย

ท้ังนี้หากมีข้อสงสัยรูปแบบและขั้นตอนของการลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_6/2967

153391

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส