จับตา !! วิษณุ เครืองาม คัมแบ็ก ช่วยสร้าง “อภินิหารทางกฎหมาย” ให้กับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่เพลี่ยงพล้ำหลายเรื่องในช่วงที่ผ่านมา
กลับมาสร้างเซอร์ไพรส์ทางการเมืองอีกครั้ง หลังนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ยอมรับกับสื่อมวลชน ได้เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งที่เคยประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี 40 สว.ยื่นถอดถอนจากตำแหน่งปมเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี
มีรายงานว่า นายเศรษฐา ลงนามคำสั่งแต่งตั้งนายวิษณุ เป็นที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมให้เจ้าหน้าที่เตรียมห้องทำงานที่ตึกเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ไว้ให้ โดยนายวิษณุ จะเข้ามารายงานตัวกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (30 พ.ค.)
อย่างไรก็ตาม หลังมีกระแสข่าวดังกล่าว สังคมค่อนข้างแปลกใจ เนื่องจากที่ผ่านมา นายวิษณุ เคยประกาศวางมือทางการเมืองแล้วก่อนหน้านี้
สำหรับชื่อของวิษณุ เครืองาม ถือเป็นมือกฎหมายขั้นเทพ ทุกรัฐบาลต้องเรียกหาเรียกใช้บริการ จนได้รับฉายา “เนติบริกร” คิดอะไรไม่ออกให้บอกวิษณุ นายวิษณุเคยทำงานด้านการเมืองกับรัฐบาลหลายชุด เช่น ดำรงตำแหน่งโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2535 ช่วงที่พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่มีรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534
ตลอดจนดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2545 ในคณะรัฐมนตรีที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังจากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557
รวมๆแล้วเคยทำงานร่วมกับ 9 นายกรัฐมนตรี (รวมเศรษฐา) วนเวียนอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะเนติบริกร ผู้ชี้ทางสว่างทางข้อกฎหมายให้กับรัฐบาลมาโดยตลอด
สำหรับการทำงานกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายวิษณุ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนืองๆ เป็นผู้สรรหาข้อเบี่ยงเลี่ยงกฎหมายให้ฝ่ายของพลเอกประยุทธ์ จนฝ่ายอื่นและสื่อสังคมตั้งฉายาให้ว่า “บิดาแห่งการยกเว้น” หรือ “บิดาแห่งข้อยกเว้น” แม้ทางออกทางกฎหมายจะตีบตันแค่ไหน หากได้นายวิษณุไปหาช่องว่าง มักประสบความสำเร็จ มีทางออกแทบทุกเรื่อง
หากจะย้อนประวัติให้ยาวกว่านั้น นายวิษณุ เครืองาม เริ่มรับราชการใน พ.ศ. 2515 เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปีต่อมาได้ย้ายมาประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2529
ใน พ.ศ.2534 วิษณุ ได้โอนมารับราชการพลเรือนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา 2 สมัย ในระหว่าง พ.ศ. 2535 – 2543 และได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2536 – 2545
นอกจากนั้น ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ถึงปัจจุบัน และได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2, กฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน) ต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกฤษฎีกาพร้อมกับอาคม เติมพิทยาไพสิฐ
งานการเมือง นายวิษณุ เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา (2535-2539) เคยรักษาการในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2535 สมัยรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร และได้เข้าร่วมงานการเมืองอีกครั้งในรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2545 โดยรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี (2 สมัย) รับผิดชอบงานเกี่ยวกับกฎหมายของรัฐบาล ต่อมาหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นศาสตราภิชานคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังสิ้นสุดภารกิจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2551 นายวิษณุ ไม่ได้เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ยังรับหน้าที่ในคณะกรรมการของรัฐอีกหลายคณะ กระทั่งในปี พ.ศ. 2557 รับตำแหน่งที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดูแลด้านกฎหมายยุติธรรม และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับผิดชอบดูแลงานกระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และราชบัณฑิตสภา ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ได้รับแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เมื่อปีที่ผ่านมา นายวิษณุ เคยพูดถึงอนาคตทางการเมืองตัวเอง หลังฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ พ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยประกาศยุติบทบาททางการเมืองเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 หลังจากสื่อถามว่า งานทางการเมืองจบแล้วหรือยัง นายวิษณุ ตอบสวนทันทีว่า "ไม่มี ไม่มีอะไรทำ จบแล้ว แต่ส่วนตัว ก็คิดแบบนี้ตั้งปี 2549 แต่อีก 8 ปีถัดมา ก็มีเหตุให้ตนกลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่มีเหตุให้กลับมาแล้ว เพราะตนเองมีปัญหาสุขภาพแทรกเข้ามาด้วย ใครมาชวนที่ไหนผมจะเปิดพุง ที่ต้องรักษาอาการป่วยจากการฟอกไตให้ดูทันที
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จากนี้จะทำอะไร นายวิษณุ บอกว่า 1.อยู่บ้านพักผ่อน ข้อที่ 2 เล่นกับหลาน ด้วยความสุขมาก ส่วนตัวเคยเว้นแบบนี้มาแล้วหนหนึ่ง แต่ตอนนั้นไม่ได้มีความสุขเท่านี้เพราะไม่มีหลาน ข้อที่ 3. เขียนหนังสือสอนหนังสือ และข้อที่ 4 อาจเข้าไปเป็นประธาน กรรมการบริษัทต่างๆ เพื่อจะมีรายได้ และขณะที่ตอนนี้ตนเองก็ยังเป็นกฤษฎีกาและราชบัณฑิตอยู่
อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การกลับมาของนายวิษณุครั้งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองมากพอสมควร สังคมจึงจับตาเป็นพิเศษ เหตุใด เศรษฐา ทวีสิน จึงเรียกตัวมาใช้งาน ทั้งที่พรรคเพื่อไทยมีมือกฎหมายที่เก่งอยู่หลายคน ซึ่งว่ากันว่าคนที่เป็นตัวกลางให้ทั้งคู่มีโอกาสพบกันก็เป็นระดับบิ๊กหรือนายเก่าที่เคยใช้บริการกันมานั่นเอง
มีรายงานอีกว่า เดิมทีนายเศรษฐา ต้องการแต่งตั้งนายวิษณุ เป็นรองนายกฯฝ่ายกฎหมาย แต่เจ้าตัวปฏิเสธ ก่อนที่ต้นทางจะยื่นข้อเสนอใหม่ให้นั่งเก้าอี้ที่ปรึกษานายกฯ แต่ถูกปฏิเสธอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสม สุดท้ายมาจบที่เก้าอี้ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี" หรือ สลค.โดยจะเข้ารายงานตัวพรุ่งนี้ (30 พ.ค.) พร้อมกับเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีทุกนัด เริ่มอังคาร ที่ 2 มิถุนายนนี้
สำหรับการกลับมาของนายวิษณุในครั้งนี้ เดาเหตุผลกันไม่ยาก ไม่พ้นมาเพื่อเสริมความแข่งแกร่งให้กับรัฐบาลเศรษฐา เปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตร อีกทั้งยังใช้เป็นตัวแก้เกมด้านกฎหมาย ที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำมาแล้วหลายเรื่อง พูดง่ายๆภาษาชาวบ้านคือ มาช่วยสร้างอภินิหารทางกฎหมายให้กับรัฐบาลเศรษฐานั่นเอง
ประวัติส่วนตัว
ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม
ชื่อ – นามสกุล : วิษณุ เครืองาม
วัน/เดือน/ปีเกิด : 15 กันยายน 2494 อายุ 67 ปี
ตำแหน่งปัจจุบัน : รองนายกรัฐมนตรี
การศึกษา
พ.ศ. 2515 – ปริญญาตรี (น.บ.เกียรตินิยมดีมาก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2516 – เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
พ.ศ. 2517 – ปริญญาโท (LL.M.) University of California, Berkeley
พ.ศ. 2519 – ปริญญาเอก (J.S.D.) University of California, Berkeley
พ.ศ. 2544 – ปริญญาเอกนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2556 – ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2556 – ปริญญาเอกนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2515 – อาจารย์ตรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2529 – ศาสตราจารย์ ระดับ 10 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2534 – โอนไปดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
พ.ศ. 2536 – เลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
พ.ศ. 2545 – รองนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 1) ทำเนียบรัฐบาล
พ.ศ. 2548 – รองนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 2) ทำเนียบรัฐบาล
พ.ศ. 2549 – สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐสภา
พ.ศ. 2550 – ศาสตราภิชาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2556 – ราชบัณฑิต ราชบัณฑิตยสภา
พ.ศ. 2557 - 2562 – รองนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 3) ทำเนียบรัฐบาล
พ.ศ. 2562 – รองนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 4) ทำเนียบรัฐบาล
พ..ศ. 2567 - ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี" หรือ สลค.