เช็กคุณสมบัติ รับเงินสวัสดิการ 40,000 บาท ซ่อมบ้านผู้สูงอายุ ปรับสภาพที่อยู่คนพิการ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดูแลสวัสดิการให้กลุ่มเปราะบาง เช่น ซ่อม สร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ ผู้สูงอายุ แต่ด้วยงบประมาณมีจำกัดจึงใช้ความร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ พร้อมขอสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สร้างบ้านและใช้ช่างชุมชนหรือช่างจากทหารมาช่วยซ่อม สร้างบ้าน
คุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเงินสวัสดิการ ซ่อมบ้านผู้สูงอายุ รายละไม่เกิน 40,000 บาท
1) ผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป
2) อยู่ในครอบครัวยากจน
3) ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่มั่นคง
4) อาศัยอยู่ในครอบครัวไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
5) ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ
ขั้นตอนการพิจารณาในต่างจังหวัด
• องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำรวจข้อมูลผู้สูงอายุที่ต้องการซ่อมแซมบ้าน
• จัดส่งการประมาณค่าวัสดุซ่อมแซมบ้านพร้อมด้วยเอกสารมายังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
• พมจ. จะมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านสอบข้อเท็จจริงเพื่อประเมินสภาพบ้านและนำมาประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดลำดับการซ่อมแซมบ้าน
• พมจ. ดำเนินการซื้อวัสดุซ่อมแซมบ้าน จัดสรรงบประมาณไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นการสนับสนุนเฉพาะค่าวัสดุสำหรับซ่อมบ้าน
• พมจ.ดำเนินการซ่อมแซมบ้านภายใน 60 วันและรายงานผลการซ่อมแซมบ้าน
คุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเงินสวัสดิการ ปรับสภาพที่อยู่อาศัยคนพิการ รายละไม่เกิน 40,000 บาท
1) มีบัตรประจำตัวคนพิการ
2) อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 6 เดือน
3) ที่อยู่ไม่มั่นคง ไม่เหมาะสมกับสภาพความพิการ
4) มีรายได้น้อย
5) ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐหรือ ได้รับแต่ไม่มีเพียงพอ
ขั้นตอนการพิจารณา
พื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้พิการจะต้องยื่นคำร้อง ที่ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพฯหรือสาขา จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านคนพิการพิจารณา อนุมัติแจ้งผลการอนุมัติ ก่อนจะเข้าปรับที่อยู่อาศัยให้คนพิการ
พื้นที่ต่างจังหวัด ผู้พิการจะต้องยื่นคำร้อง พมจ. จากนั้น พมจ. จะส่งเรื่องให้ อปท. ประสานให้ อปท.เป็นหน่วยให้บริการมีการเยี่ยมบ้าน สอบข้อเท็จจริงและอนุมัติงบ พร้อมปรับที่อยู่อาศัยให้คนพิการ ส่วนกรณีไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จะต้องมีหลักฐานจากการยินยอมจากเจ้าของกรณี เป็นบ้านเช่าต้องมีหลักฐานว่าอยู่อาศัยได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือนซึ่งสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 -354-3388 ต่อ 209 หรือศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศ