“สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” เปิดตัวภาพยนตร์สารคดี “ดินแดนสุวรรณภูมิ” อารยธรรมรากฐานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สืบเนื่องกว่า 2500 ปี
วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ “ธัชชา” เปิดตัวละครสั้นกึ่งสารคดี มินิซีรีส์ เรื่อง "สู่ดินแดนสุวรรณภูมิ" สารคดีที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับรากฐานสำคัญของการเกิดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอารยธรรมมายาวนานกว่า 2500 ปี ด้วยความมุ่งมั่นของปราชญ์คนสำคัญของประเทศไทย นักวิชาการ หลากหลายสาขา ร่วมกันทำงานข้ามศาสตร์ ค้นหาหลักฐาน สรุป และยืนยันถึง ที่มา ที่ไป รวมถึงคุณค่า ของอารยธรรม ที่เคยถูกลืมเลือน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และเหนืออื่นใดคือ แนวพระราชดำริของ “ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ (หัวหน้าโครงการวิจัย) ระบุว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นรากฐานทางอารยธรรมของเราที่เก่าแก่กว่า 2500 ปี เพื่อชี้ให้เห็นว่า เรามีซอฟท์พาวเวอร์ ซึ่งในภาพยนตร์สารคดีเรียกว่า ‘คุณค่า 5 มิติ’ ซึ่งเรามีอยู่มากและนานเพียงใด เพียงแต่ต้องกลับไปค้นคว้าและศึกษาสิ่งที่มีอยู่นั้นมาใช้ประโยชน์ให้มากกว่าเดิม
โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้มีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีลงไป หรือบุคคลทั่วไปที่ชื่นชอบสารคดีเชิงประวัติศาสตร์อารยธรรม ซึ่งเราคาดหวังว่าหลังจากที่ผู้ชมได้ชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้แล้ว จะเกิดคำถามที่เกี่ยวข้องกับดินแดนสุวรรณภูมิ ต่อยอดไปในหลายมิติที่ก่อให้เกิดการถกเถียง โต้แย้งในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำถาม คำตอบ ทั้งในด้านวิชาการ และสามารถเผยแพร่องค์ความรู้นี้รวมถึงด้านวัฒนธรรมของประเทศต่อไป”
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ดินแดนสุวรรณภูมิ” จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็น มินิซีรีย์ทั้งหมด 5ep โดยจะเริ่มออกอากาศทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.30-11.00 น. เริ่มตอนแรกวันที่ 2 มิถุนายน 2567 ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9MCOT และยังสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ได้ทางเพจ Facebook Suvarnabhumi_HUB2 ได้อีกด้วย
“ในอนาคตเราวางแผนว่าจะมีโปรเจ็กต์ภาพยนต์มินิซีรีย์แนวผจญภัย และแนวครอบครัวออกมาเพิ่มเติม รวมถึงได้วางแผนการนำแนวคิดเรื่องสุวรรณภูมิไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และศิลปะสาขาอื่นๆ เช่น ละคร นาฏกรรม มังงะ หรืออนิเมชัน เป็นต้น” ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ ขยายความ
“ธัชชา” เป็นการขับเคลื่อนทางด้าน สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ครั้งสำคัญของประเทศ โดยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการ การเรียนการสอน การวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ ด้วยสหวิทยาการ จึงดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศศ โดยมี “ธัชชา” เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัย อันนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์างเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
ทั้งนี้ วิทยสถานธัชชา เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการชั้นนำระดับประเทศ เพื่อร่วมกันทำงานวิจัยในประเด็นเดียวกันที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งนักวิชาการแต่ละคนมีต้องการที่จะสร้างองค์ความรู้ดี ๆ ให้กับประเทศ โดยองค์ความรู้เหล่านี้ยังมีการรับรู้ไม่เพียงพอ และล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคม
อย่างไรก็ดี องค์ความรู้เหล่านี้ผสมผสานรวมกันอย่างเป็นสหวิทยาการ ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ในสังคมได้ ไม่เฉพาะแต่ในแวดวงวิชาการเท่านั้น และองค์ความรู้เหล่านี้ เปรียบเสมือนดัง “ตาน้ำ” หรือ แก่นของ Content ที่นักสร้างสรรค์ควรเข้ามาชม ศึกษา หาข้อมูล เพื่อนำไปใช้เป็นต้นทางของแก่นของการสร้างสรรค์ผลงานของตนเองได้อย่างไม่จบสิ้น