"วันครีษมายัน" คืออะไร คนไทยเจอแน่ 21 มิ.ย. 67 พระอาทิตย์ขึ้น-ตกไม่ปกติ

18 มิ.ย. 67

สดร. เผย "วันครีษมายัน" ปีนี้ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน พระอาทิตย์ขึ้นและตกเบี่ยงทิศทาง "กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี"

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ในปี 2567 "วันครีษมายัน" (อ่านว่า ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) จะตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด และช่วงเวลากลางคืนสั้นที่สุดของปี เนื่องจากดวงอาทิตย์ได้โคจรไปถึงจุดหยุด หรือจุดสุดทางเหนือ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ของทุกปี ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ได้เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อย ๆ และจะหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ส่งผลให้ในวันดังกล่าว ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกโดยเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกโดยเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดเช่นกัน จึงมีเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี หรือเป็นวันที่มืดช้าที่สุดนั่นเอง นอกจากนี้ ยังนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน และประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

248010

นายศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับ "ฤดูกาล" นั้น เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศาฯ กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว ปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ "วันศารทวิษุวัต" (Autumnal Equinox) ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 22 กันยายน 2567 วันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส