ด่วน!ก.ตร.มีมติเอกฉันท์ 12 ต่อ 0 ชี้คำสั่งให้ บิ๊กโจ๊ก สุรเชษฐ์ หักพาล ออกราชการถูกต้อง ด่านต่อไปลุ้นผลการพิจารณาของ "ก.พ.ค.ตร."
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 26 มิ.ย.67 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยหนึ่งในวาระที่ต้องจับตาวาระหารือคือ คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.
ซึ่งที่ประชุมจะนำผลของคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย (อนุ ก.ตร.วินัย) ที่มีความเห็นว่าคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมายแล้ว มาพิจารณาชี้ขาดด้วย โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาระบุว่า ขั้นตอนคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนไม่ถูกต้อง
ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. นายเศรษฐา ได้เดินออกจากห้องประชุม และออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เดินทางมาส่ง โดยนายเศรษฐาระบุว่าประชุมยังไม่แล้วเสร็จ จากนั้นพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้กลับเข้าไปประชุมอีกครั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม ก.ตร.มีมติ 12 ต่อ 0 เห็นว่า คำสั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน ถูกต้องแล้ว
ระหว่างนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ร้องขอความเป็นธรรมจาก ก.พ.ค.ตร.ไว้แล้ว ซึ่งต้องรอมติอีกครั้ง เพื่อให้คำสั่งสมบูรณ์ ก่อนถึงขั้นตอนขึ้นทูลเกล้าฯ
ในการประชุมมีการถกเถียงประเด็นดังกล่าว สุดท้ายนายกฯ ให้โหวตลงความคิดเห็นของ ก.ตร. ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ 12 ต่อ 0 ให้ความเห็นชอบคำสั่ง รรท.ผบตร. ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน
ล่าสุด เวลา 18.40 น.พล.ต.ท.อนุชา รมยะนันทน์ เลขา ก.ตร.ได้แถลงผลประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ระบุว่า เกี่ยวกับเรื่องของกรณีที่มีผู้ร้องขอให้ก.ตร.พิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายหรือไม่ ใน 2 คำสั่งด้วยกัน คือคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 177 /2567 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และคำสั่ง ตร.ที่ 178/2567 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน
ซึ่งทั้ ง2 กรณีที่ประชุม ก.ตร.มีมติเห็นชอบตามที่อนุ ก.ตร.วินัยเสนอว่าการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดแล้ว
สำหรับการพิจารณายกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งนั้น ไม่อยู่ในอำนาจของก.ตร.แต่อยู่ในอำนาจขององค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัย โดยอยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค.ตร. พร้อมทั้งผู้ที่ร้องได้ใช้สิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด จึงให้ผู้ร้องรอการพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร.ต่อไป.
Advertisement