"เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ" สร้างถวายรัชกาลที่ 9

8 ก.ค. 67

เปิดประวัติ "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ" สร้างถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ในโอกาสปีมหามงคลกาญจนาภิเษก

"นารายณ์ทรงสุบรรณ" มีความหมายเดียวกันกับ "พระวิษณุทรงครุฑ" เนื่องจาก นารายณะ หรือที่ไทยเรียกว่า นารายณ์ เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ ก็เป็นชื่อเรียกครุฑ หรื พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ

ส่วนที่เติมสร้อยว่า "รัชกาลที่ 9" นั้นก็เพื่อสื่อให้ทราบว่าเรือพระที่นั่งลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องจากชื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีมาแล้วตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 - 2394)

449979862_913363560825961_645

หัวเรือพระที่นั่งจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู ตามคัมภีร์ปุราณะจากอินเดียที่มีต่อประเพณีนิยมและศิลปกรรมไทย พระวิษณุเป็นหนึ่งในเทพเจ้าสำคัญที่สุด 3 องค์ อีก 2 องค์ คือพระพรหม และพระศิวะ พระวิษณุเป็นเทพเจ้าแห่งการพิทักษ์รักษา ถือกำเนิดบนโลกมนุษย์ในรูปร่างต่างๆ เรียกว่า อวตาร เชื่อกันว่าทรงแบ่งภาคลงมากำเนิดเป็นพระราชาได้ในทุกสถานที่และทุกกาลเวลา

68547556_2568423409888856_942

ในพุทธศตวรรษที่ 19 ราชสำนักไทยได้รับเอาแนวคิดเช่นนี้มาสร้างให้เกิดความเชื่อในหมู่ประชาชนซึ่งเกื้อหนุนสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้สูงส่งประหนึ่งเทพ อย่างไรก็ดี โขนเรือพระที่นั่งลำนี้ มิได้แสดงรูปพระรามซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ ซึ่งพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ มีสมมติพระนามโดยเรียกตามนามของพระราม แต่ได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือจักร สังข์ คฑา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น

ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑเจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า ส่วนนาคเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล

1570411262_g_1_1

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก (ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี) เมื่อพุทธศักราช 2539 ดำเนินการโดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร โขนเรือและตัวเรือจำหลักลงรักปิดทองประดับกระจก ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ เรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 1.10 เมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร น้ำหนัก 20 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน และคนเห่เรือ 1 คน

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส