มหัศจรรย์ชันโรงจิ๋ว เสริมสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัว เชื่อมโยงการตลาดไปสู่วิสาหกิจชุมชน
นางเนตนภา บุญหา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มชันโรงบ้านไพรวัน ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ได้รับโอกาสไปศึกษาดูงานการเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง ณ จังหวัดพัทลุง ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ทำให้เกิดความสนใจในการเลี้ยงชันโรง ต่อมาในเดือนมกราคม 2563 จึงได้ทดลองเลี้ยงครั้งแรกจำนวน 3 กล่อง พอเลี้ยงได้สักระยะหนึ่ง มีการตอบรับจากลูกค้าและมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นในครัวเรือน จึงมีแนวคิดส่งเสริมให้เพื่อนบ้านรวมกลุ่ม การเลี้ยงชันโรงเพื่อเสริมสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัว โดยสามารถจัดตั้งกลุ่มขึ้นซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น 18 ราย และได้ขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564
นางเนตนภา บุญหา อธิบายว่า “ชันโรง” เป็นผึ้งตระกูลหนึ่ง หรือจะเรียกว่า “ผึ้งจิ๋ว” แต่ความแตกต่างคือ มันจะไม่ต่อย เพราะมันไม่มีเหล็กใน โดยในสมัยก่อนจะไม่นับ “ชันโรง” เป็นผึ้ง แต่จะเรียกว่า “ชันโรง” แต่ปัจจุบันการเรียกก็เปลี่ยนไป เรียกว่า “ผึ้งชันโรง” ซึ่งผึ้งชันโรงเป็นแมลงสังคมขนาดเล็กโดยพฤติกรรมการเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ และละอองเกสรของพืชมาใช้เป็นอาหาร ซึ่งอาหารของชันโรง จะเป็นน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสร ฉะนั้นหากต้นไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ มีเกสร เช่น เงาะ ลองกอง มะพร้าว หรือลำไย เหล่านี้ออกดอกก็จะเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของชันโรง ฉะนั้นการวางแผนก็ควรปลูกพืชที่ออกดอกทั้งปี เราก็จะได้ผลผลิตทั้งปี นอกจากนี้การเลี้ยงชันโรง เขายังช่วยทำหน้าที่ผสมเกสรทำให้ได้ผลผลิตดีอีกด้วย
ปัจจุบันกลุ่มชันโรงบ้านไพรวัน ได้สนับสนุนกล่องแม่พันธุ์ชันโรงให้สมาชิกรายละ 10 กล่อง เพื่อนำไปศึกษาและนำความรู้ ต่อยอดการเลี้ยงต่อไป โดยทางกลุ่มฯ จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สมาชิก และรับซื้อผลผลิตจากชันโรงเพื่อจำหน่ายในนามกลุ่มชันโรงบ้านไพรวัน อีกทั้งนำชันโรงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำผึ้งชันโรง ยางชันโรง สามารถเอาไปสกัดเป็น Propolis (โพรพอลิส) ที่ใช้ในทางการแพทย์ หรือนำไปทำสบู่ หรือเวชสำอาง พิมเสนน้ำ เป็นต้น โดยรายได้จากการจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรง จำหน่ายกล่องพันธุ์ชันโรงพร้อมเลี้ยง และจำหน่ายกล่องสำหรับเลี้ยงชันโรง เฉลี่ยปีละ 80,000 บาท
เนื่องจากการเลี้ยงชันโรง ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยังสามารถขยายผลจากระดับหมู่บ้าน ไปในระดับตำบล อำเภอ จังหวัดนราธิวาส จนถึงระดับภูมิภาค 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้ในอนาคต อีกทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงชันโรง ให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อนำไปเลี้ยงชันโรงเสริมสร้างรายได้ในการดำรงชีวิต พัฒนาต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ในการอุปโภคและบริโภคและสร้างรายได้ในการประกอบเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริมตลอดจนเชื่อมโยงการตลาดไปสู่วิสาหกิจชุมชน ด้านสินค้าและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชันโรงต่อไป