พบรอยเท้าคล้าย ไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า รอนักวิชาการตรวจสอบ หลังมีนักท่องเที่ยวเดินสำรวจพบ
วันที่ 29 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสัตว์ดึกดําบรรพ์ ไดโนเสาร์ พากันมาพิสูจน์ด้วยตาของตนเอง หลังจากทราบจากสื่ออินเตอร์เน็ตว่า มีนักท่องเที่ยวพบ รอยเท้าไดโนเสาร์หลายรอย และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาอนุรักษ์และศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่อไป
ทั้งนี้รอยเท้าคล้ายไดโนเสาร์ดังกล่าวอยู่ที่บริเวณใกล้เคียงกับลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ใกล้ลานกางเต็นท์ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้จัดทำแนวอยู่ระหว่างการตรวจสอบตามหลักวิชาการ นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นพิกัด หาได้ไม่ยาก ซึ่งจุดแรกมีรอยคล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์ กลุ่มเดินสองขา และกลุ่มเดินสี่ขารอยเท้า มีขนาดความกว้าง และยาวที่ 30 เซนติมเตร รอยเล็ก 20 เซนติเมตร ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว มีรอยคล้าย รอยเท้าไดโนเสาร์ สายพันธุ์คาร์โนซอร์ ซีลูโรซอร์ ออร์นิโทพอต ซอโรพอต และอาร์โคซอร์ กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่
ซึ่งลักษณะพื้นที่ที่พบเป็นลานหินกว้าง หินลาดเอียงไม่มาก ในช่วงฝนตกน้ำ
ฝนจะไหลตามร่องแนวหิน และมีชั้นหินมีการแตกกะเทาะออกเป็นจุดๆ ทั่วบริเวณ จุดที่พบรอย คล้ายรอยเท้าไดโนเสาร์ เป็นจุดที่น้ำกัดเซาะจากแผ่นหินชั้นบนแล้ว รอยเท้าที่พบ คาดว่าเป็นรอยเท้าที่อยู่บนหินทราย ที่มีการทับถมตะกอนทางน้ำโบราณ น้ำแห้ง แล้วไดโนเสาร์มาเหยียบจนเกิดรอยตีนขึ้น เมื่อรอยตีนแห้งก็มีน้ำพัดมาอีกจนเกิดตะกอนหินทรายทับถมเป็นชั้นๆ
นายลำยอง ศรีเสวก หัวหน้า อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้ประสาน กรมทรัพยากรธรณี เพื่อขอให้นักวิชาการมาช่วยตรวจสอบ หากเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์จริง ก็จะขอรับข้อมูลทางวิชาการ คำแนะนำและการจัดการพื้นที่ป้องกันไม่รอยเท้าไดโนเสาร์เสียหายจากน้ำไหลพัดพาดินหินทรายมาสร้างความเสียหาย เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอิน แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวที่สำคัญของ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าต่อไปในอนาคต
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 66 ราชกิจานุเบกษา ออกประกาศกรมทรัพยากรธรณี เรื่องแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน แหล่งที่ 22 แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ลำน้ำหมันแดง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หลังจากนักธรณีวิทยากรมทรัพยากรธรณี และดร.ฌอง เลอ ลูฟ ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ จากประเทศฝรั่งเศส สำรวจพบ
พบเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 49 เป็นรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ คาร์โนซอร์ เป็นรอยตีนขนาดใหญ่ มี 3 นิ้ว จำนวนกว่า 17 รอย เรียงเป็นแนวทางเดิน 4 แนวทางเดิน สภาพของรอยตีนมีความชัดเจน ขนาดรอยตีนมีความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีความยาวช่วงก้าวประมาณ 120 ถึง 150 เมตร สภาพทางภูมิศาสตร์ ของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ เป็นลานหินทรายริมน้ำหมันแดง ซึ่งเป็นลำห้วยมีน้ำไหลตลอดปี และในพื้นที่เป็นป่าดิบเขา รอยเท้าไดโนเสาร์ พบในหินทรายเนื้อละเอียด สีน้ำตาลและสีม่วงแดง หมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเซียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปี