ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) รวบหมอกระเป๋า จบปวช.สาขาการขาย เปิดโรงแรมรายวัน ย่านสุขุมวิท อ้างตัวเป็นแพทย์ศัลยกรรม จิ้มหน้าฉีดฟิลเลอร์ - โบท็อกซ์
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชน ขอให้ทำการตรวจสอบบุคคลแอบอ้างตัวเป็นแพทย์ฉีดเสริมความงามให้ประชาชน โดยจะนัดหมายกลุ่มลูกค้าผ่านทางเฟซบุ๊ก จากนั้นเปิดโรงแรมย่านสุขุมวิทใช้เป็นสถานที่ฉีดเสริมความงาม เช่น ฉีดวิตามินผิว, ฟิลเลอร์, โบท็อก โดยสงสัยว่าบุคคลที่ทำหัตถการให้ไม่ใช่แพทย์
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนหาข่าวพบว่ามีการนัดหมายกลุ่มลูกค้าเข้ามารับบริการฉีดเสริมความงามโดยใช้โรงแรมต่างๆ ย่านสุขุมวิทเป็นสถานที่นัดหมายสำหรับให้บริการจริง
ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว พบ น.ส.เจติยา (สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี แอบอ้างเป็นแพทย์หญิง ให้บริการฉีดรักษา เสริมความงามแก่ลูกค้าที่นัดหมายไว้ โดยขณะนั้นมีลูกค้ารอรับบริการอยู่หลายราย
จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.เจติยาฯ ไม่ใช่แพทย์ และไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกอบกับสถานที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นห้องพักในโรงแรม ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และดำเนินการสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ จับกุม น.ส.เจติยาฯ พร้อมตรวจยึดของกลาง รวม 5 รายการ ได้แก่ ยาที่บรรจุในไซริ้งค์พร้อมฉีด ไซริ้ง เข็ม และฟิลเลอร์สำหรับใช้ฉีดให้ประชาชน นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.
โดย น.ส.เจติยาฯ รับว่าตนไม่ใช่แพทย์ ไม่มีความรู้ ความชำนาญ อย่างแพทย์ผู้มีวิชาชีพแต่อย่างใด เรียนจบการศึกษาระดับชั้น ปวช.3 สาขาการขาย และไปศึกษากับภรรยาของหมอจีนที่พักอาศัยภายในประเทศมาเลเซีย จึงพอมีความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ ประกอบกับมีความสนใจในด้านศัลยกรรมเสริมความงาม และเห็นช่องทางว่ามีรายได้ดี จึงเริ่มรับงานโดยแอบอ้างตัวเป็นแพทย์ศัลยกรรมเฉพาะทาง รับฉีดวิตามินผิว ฟิลเลอร์ โบท็อก ให้กับลูกค้าทั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย
โดย น.ส.เจติยาฯ จะนัดหมายลูกค้าผ่านเฟซบุ๊กครั้งละหลายราย และเปิดโรงแรมรายวันเพื่อให้บริการฉีดเสริมความงามให้ลูกค้าตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจะใช้จุดนัดหมายหลายจุด และเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ โดยทำมาแล้วประมาณ 5 ปี มีรายได้เดือนละ 20,000-40,000 บาท
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท.