สกู๊ปพิเศษอมรินทร์ทีวี "นักเรียนชายขอบ กับความฝันอันห่างไกล" ทีมข่าวอมรินทร์ทีวีลงพื้นที่ โรงเรียนทีหลึคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พูดคุยถึงความฝันของเด็กดอย ที่ฟังแล้วดูเป็นภาพเลื่อนลอย บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะอธิบายออกมาให้เห็นภาพได้อย่างไร ซึ่งการจะไปถึงตรงนั้นสิ่งสำคัญคือการศึกษา
7 โมงเช้า เด็กๆ ชาวเขาเตรียมตัวมาโรงเรียน ชุดนักเรียนเก่า รองเท้าแตะ บ้างใส่ไปรเวท เดินไต่ไหล่เขาระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร โรงเรียนบนเขาไม่มีของเล่นทันสมัยเหมือนโรงเรียนในเมือง ความสนุกเดียวคือเล่นกับเพื่อน
8 โมง ได้เวลาเข้าแถว เสียงเจื้อยแจ้วร้องเพลงชาติ สวดมนต์ เด็กน้อยชาวเขาพูดภาษาเผ่า มีแค่เด็กโตไม่กี่คนที่สื่อสารภาษาไทย นักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 มี 15 คน หลายครั้งมาไม่ครบ ห้องเรียนห้องเดียวกับครู 2 คน แบ่งมุมนั่งแยกกัน อนุบาลฝึกระบายสี เด็กโตฝึกอ่านคัดลายมือ
พักเที่ยงถือถุงข้าววิ่งไปรับกับข้าว โรงเรียนไม่มีตู้เย็น เนื้อหมูขนมาจากข้างล่างต้องรีบหมักกระเทียมกับเกลือกันบูด เก็บทำกับข้าวได้เป็นสัปดาห์ ไม่มีน้ำหวาน ไอศกรีม แค่ได้กินเนื้อสัตว์ก็หรูมากแล้ว
เด็กๆ กินมูมมาม พลางดูการ์ตูนในทีวีเครื่องเดียวของหมู่บ้านไปด้วย เริ่มอิ่มกวาดไส้กรอกกับหมูที่เหลือมัดใส่ถุงกลับบ้าน ถือเป็นอาหารมื้อหรู เพราะบนดอยแห่งนี้มีแค่ของป่า ถึงเวลาเลิกเรียนเดินเกาะกลุ่มกลับบ้าน
รัตติกาล เด็กสาววัย 11 ปี เรียนชั้น ป.2 ดูแลน้องชายวัย 3 ขวบไม่ห่าง บ้านไม้ไผ่ยกสูง แม่นั่งรอหน้าเตาผิงไฟกลางบ้าน สาวน้อย รีบถอดเสื้อนักเรียนตัวเดียวที่มีซักด้วยมือแบบง่ายๆ แล้วตากทันทีเพื่อจะได้แห้งทันใส่พรุ่งนี้ เด็กน้อยท่องกอไก่เสียงดังฟังชัด น้องชายตัวน้อยคอยป้วนเปี้ยนเข้ามานั่งตักพี่ แววตาใสซื่อบอกว่าชีวิตมีความฝัน แต่บอกไม่ได้คิดแค่ว่าคงจะเรียนไปถึง ป.6 เท่านั้น
อีกคนคือ จู้แฮ วัย 14 ปี ที่ยังเรียนชั้น ป.4 เธอขาดเรียนบ่อยครั้ง เพราะมีภาระทางบ้านต้องช่วยแม่ทำไร่ไถนา ความฝันอยากเป็นครู ก็ดูเป็นไปได้ยาก เพราะไม่น่าจะได้เรียนต่อเพราะไม่มีเงิน มุมของครอบครัวก็อยากให้ลูกออกมาช่วยทำงาน เพราะปากท้องต้องมาก่อน
อาชีพหลักของชาวเขาที่นี่คือ ทำนา ทำไร่เลื่อนลอยบนไหล่เขา ทีมข่าวเดินเท้าขึ้นเขามาพูดคุยกับกลุ่มชายวัยรุ่นที่เรียนจบประถม แล้วต้องออกมาช่วยครอบครัวทำงาน
จอโหย่ว วัย 15 ปี เรียนจบแค่ ป.6 จำใจลาออกมาเพราะต้องช่วยพ่อทำไร่ข้าวโพด เจ้าตัวอยากมีเงินมากพอมาดูแลครอบครัว แต่ไม่รู้หนทาง ทุกวันนี้อยู่อย่างขัดสน แม้จะปลูกข้าวกินเอง แต่บางปีข้าวก็ไม่พอกินด้วยซ้ำ
ความฝันดูเป็นคำพูดที่ห่างไกล เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้เอื้อให้เด็กจินตนาการไปถึง ทำได้แค่สืบต่อการทำไร่ ไถนาจากรุ่นพ่อแม่ การศึกษาที่ทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึง แต่เด็กดอยในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้กลับถูกตัดโอกาสเพราะระยะทางและความยากจน