"นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่ของ อินโดนีเซีย ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการบริหาร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

21 ส.ค. 67

"นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่ของ อินโดนีเซีย ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางแห่งการบริหารประเทศ กระจายความมั่งคั่ง และเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หลังจากที่ ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ของอินโดนีเซียได้ประกาศย้ายเมืองหลวงอย่างเป็นทางการจาก "กรุงจาการ์ตา" บนเกาะชวาไปยังสถานที่แห่งใหม่ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว เพื่อแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานจากการขยายตัวของเมืองและประชากรในกรุงจาการ์ตา อาทิ การจราจรติดขัด ชุมชนแออัด การทรุดตัวของพื้นดินจากการสูบใช้น้ำบาดาล การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ และความแออัดของพื้นที่ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ระบบบำบัดน้ำเสีย และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น เป็นต้น

สำหรับชื่อเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซียคือ "นูซันตารา" (Nusantara) ซึ่งในภาษาชวาแปลว่า “หมู่เกาะ” โดยให้เหตุผลว่า เป็นชื่อที่ง่ายต่อการจดจำและสะท้อนความเป็นอินโดนีเซียได้ดีจากลักษณะพิเศษทางภูมิประเทศที่มีสภาพโดยทั่วไปเป็นเกาะ โดยคาดว่า การก่อสร้างและย้ายเมืองหลวงจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2035

afp__20220118__9we79j__v1__hi
ที่ตั้งสำนักงานรัฐบาลกลาง ในเมืองหลวงแห่งใหม่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2024 อินโดนีเซียได้จัดงานฉลองวันประกาศเอกราชครบ 79 ปี ขึ้นที่ นูซันตารา เมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศ โดยมีประธานาธิบดีโจโก วิโดโด พร้อมคณะรัฐมนตรี ร่วมในงานพิธี โดยกำหนดเดิมมีการเชิญแขกมาร่วมงาน 8,000 คน แต่ต้องลดลงเหลือแค่ 1,300 คน เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องที่พักและการจัดหาอาหาร ประกอบกับอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หลายแห่งยังคงอยู่ในระหว่างการก่อสร้างจากการประสบปัญหาและความล่าช้าหลายประการ

afp__20240817__36ee86d__v3__h
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ทำพิธีฉลองวันประกาศเอกราชครบ 79 ปี ที่กรุงนูซันตารา เมืองหลวงแห่งใหม่

• พื้นที่และภูมิประเทศของนูซันตารา

กรุงนูซันตารา ตั้งอยู่ทางตะวันออกของ จ.กาลีมันตัน เกาะบอร์เนียว ห่างจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงเก่า ประมาณ 2,000 กิโลเมตร อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 200-4,095 เมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่ห่างจากแนวภูเขาไฟและบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก ซึ่งปลอดภัยจากแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด

นูซันตาราครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 562 ตารางกิโลเมตร ใน จ.กาลีมันตัน และยังได้รับการจัดสรรที่ดินสำหรับขยายพื้นที่ในอนาคต รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,561 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณเกือบ 2 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเมืองใหม่แห่งนี้จะประกอบด้วยพื้นที่ตัวเมือง ประมาณ 561.80 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่สำหรับการพัฒนาอีกประมาณ 1,930 ตารางกิโลเมตร

การย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังกรุงนูซันตารา คาดว่าจะช่วยระบายความแออัดจากการขยายตัวของเมืองและประชากรในกรุงจาการ์ตาที่ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 11 ล้านคน ในขณะที่จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งใหม่ มีประชากรเพียง 3.78 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่ากรุงจาการ์ตาประมาณ 3 เท่า อีกทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเสี่ยงที่กรุงจาการ์ตาอาจจมลงสู่ทะเลในอนาคต เนื่องจากพื้นที่กรุงจาการ์ตาทรุดตัวลงประมาณ 25 เซนติเมตรต่อปีจากการขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้เป็นปริมาณมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า พื้นที่ 1 ใน 3 ของกรุงจาการ์ตาอาจจมลงในทะเลภายในปี 2050

สำหรับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงใหม่คือ กระทรวงการวางแผนการพัฒนาแห่งชาติของอินโดนีเซีย ซึ่งมีการประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 33,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลอินโดนีเซียจะจัดสรรงบประมาณร้อยละ 19 ของค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง สำหรับในส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 81 จะรับการลงทุนจากทั้งภายในและต่างประเทศในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน รวมทั้งการระดมทุน (crowdfunding)

ทั้งนี้ การถ่ายโอนสถานะเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่จะเริ่มขึ้นในช่วงแรกของปี 2024 และคาดว่าการย้ายเมืองหลวงจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2035

afp__20240716__36483cg__v1__h
ภาพมุมสูง กรุงนูซันตารา และที่ตั้งของทำเนียบรัฐบาล อาคารสำนักงานราชการ

• แผนการพัฒนา นูซันตารา แบ่งออกเป็น 5 เฟส

รัฐบาลอินโดนีเซียแบ่งการพัฒนาเมืองออกเป็น 5 ระยะ ระหว่างปี 2022 - 2045 ดังนี้

ระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารสถานที่และจัดทำแผนการย้ายส่วนราชการในภาพรวม
ระยะที่ 2 รัฐบาลอินโดนีเซียจะย้ายเจ้าหน้าที่ไปประจำที่กรุงนูซันตารา ร้อยละ 20 ต่อปี โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะย้ายที่ทำการไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ในปี 2024 ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาประชาชนจะเป็นหน่วยงานที่ต้องย้ายไปเป็นลำดับแรก
ระยะที่ 3 รัฐบาลจะพัฒนาเมือง สิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภค
ระยะที่ 4 รัฐบาลอินโดนีเซียจะพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลวงใหม่กับพื้นที่ในประเทศและต่างประเทศ
ระยะที่ 5 ตั้งเป้าหมายให้กรุงนูซันตาราเป็นเมืองแห่งแรกของโลกที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคนที่บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ในปี 2045

นอกจากนี้ กรุงนูซันตาราจะเป็นเขตปกครองพิเศษคล้ายกรุงจาการ์ตา จะบริหารโดยสำนักงานเมืองหลวงแห่งชาติ โดยประธานาธิบดีจะแต่งตั้งผู้บริหารมาทำหน้าที่สมัยละ 5 ปี ต่างจากกรุงจาการ์ตาที่ผู้ว่าการมาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ยกเว้นการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ ความมั่นคง งานยุติธรรม การเงิน การคลัง และศาสนา ซึ่งถือเป็นอำนาจของรัฐบาลอินโดนีเซีย

afp__20240711__363u7jg__v1__h
รัฐบาลเร่งก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภค หลังเริ่มย้ายเจ้าหน้าที่มาประจำการ

เป้าหมายของการย้ายเมืองหลวงเป็น นูซันตารา

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าหมายของการย้ายเมืองหลงจากกรุงจาการ์ตา มายังกรุงนูซันตารา โดยมีเป้าหมายหลัก ดังนี้

ด้านการปกครอง เมืองหลวงเก่า กรุงจาการ์ตา จะเป็นเมืองหลวงด้านการเงินและศูนย์กลางแห่งการค้า ขณะที่กรุงนูซันตาราเมืองหลวงใหม่ จะเป็นศูนย์กลางแห่งการบริหารประเทศของอินโดนีเซีย

ด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลจะจัดสรรพื้นที่กว่าร้อยละ 70 หรือประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่สีเขียว รวมทั้งกำหนดให้พื้นที่ร้อยละ 80 ของการสัญจรของประชาชนเป็นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือจักรยาน

ด้านเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของประชาชนในแต่ละภูมิภาคของอินโดนีเซีย ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความเจริญกระจุกตัวอยู่แต่ในพื้นที่เกาะชวาที่ตั้งของกรุงจาการ์ตา การย้ายเมืองหลวงจะช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งไปยังพื้นที่อื่นๆ รวมถึงการค้าชายแดน เนื่องจากเกาะบอร์เนียวมีเขตแดนติดกับมาเลเซีย และบรูไนดารุสซาลาม โดยรัฐบาลอินโดนีเซียคาดหวังว่า การย้ายเมืองหลวงจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Indonesia’s 2045 Vision ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้อินโดนีเซียหลุดพ้นจากสถานะกับดักรายได้ปานกลางและเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้และอิทธิพลทางเศรษฐกิจเทียบเท่าประเทศมหาอำนาจภายในปี 2244

afp__20220118__9we79m__v1__hi
ภาพที่ตั้งของสำนักงานรัฐบาลกลาง อาคารสำนักงานราชการ โดยคาดว่าการย้ายเมืองหลวงจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2035

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม