รวมเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ "กรุงเทพฯ" พบหลักฐานครั้งแรก สมัยช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ผ่านมา 200 กว่าปี ก็ยังไม่หลุดพ้น
ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมหรืออุทกภัยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน บางพื้นที่ประสบปัญหานี้ทุกปีจนกลายเป็นเรื่องปกติที่ยากจะทำใจ แต่ก็ต้องจำใจยอมรับในวิถีของธรรมชาติ ส่วนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้น เคยเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง ไม่นับรวมกับน้ำรอระบายที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่หาย และนี่คือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองกรุง ที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
พุทธศักราช 2328
สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งแรกนั้น พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 บันทึกว่า เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 อันเป็นปีมะเส็ง หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จไม่นานนัก น้ำล้นมากโข จนทำให้ระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว บรรดาข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ต้องจอดเรือเทียบมาเข้าเฝ้าถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ข้าวแพงถึงเกวียนละชั่ง ประชาชนขัดสนเดือดร้อนหนัก จนต้องมีการนำข้าวเปลือกในยุ้งหลวงมาแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือ
พุทธศักราช 2362
ถัดจากนั้นมา 34 ปี เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2362 ปีเถาะ ระดับน้ำที่ท้องสนามหลวง น้ำลึก 6 ศอก 8 นิ้ว และยังไหลท่วมเข้าไปยัง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จนเสด็จออกว่าราชการไม่ได้ จนต้องทรงย้ายไปว่าราชการที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
พุทธศักราช 2485
ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 8 เกิดฝนตกหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นสูงจนล้นคันกั้นน้ำตลอดทั้งสองฝั่ง โดยวัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตร ส่วนที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า น้ำสูงถึง 1.50 เมตร เหตุการณ์นี้ทำให้น้ำท่วมพระนครนานถึง 3 เดือน นับเป็นอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อมากักเก็บน้ำ
พุทธศักราช 2518
เป็นปีแรกที่คนเมืองหลวงได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยพายุดีเปรสชั่นได้พาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ภาคกลางตอนบนมีปริมาณน้ำสูงจนระบายไม่ทัน เป็นเหตุให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ
พุทธศักราช 2521
เหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้เกิดจากพายุสองลูกชื่อ ‘เบส’ และ ‘คิท’ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำสูงสุดของปีนั้นที่เชิงสะพานเสรีประชาธิปไตยอยู่ที่ 12.76 เมตร นอกจากนั้น ยังเกิดน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสัก ทำให้น้ำปริมาณมากไหลจากทุ่งด้านตะวันออกเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ
พุทธศักราช 2526
เกิดน้ำท่วมร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากพายุดีเปรสชัน 2 ลูก คือ เฮอร์เบิร์ตและคิม พัดผ่านเข้ามายังในประเทศไทย วัดปริมาณฝนทั้งปี 2,119 มิลลิเมตร ทำให้ฝนตกหนักจนเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรองรับปริมาณน้ำไม่ไหว ทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก
หลังจากนั้น เกิดน้ำทะเลหนุนสูงทำให้น้ำท่วมเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเริ่มจากฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในถนนกว่า 30 สาย และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ทำการเกษตรในฝั่งธนบุรี
สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมลากยาวจนถึงเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะค่อยๆ ดีขึ้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมระยะทั้งสิ้น 4 เดือน ประชาชนใน 42 จังหวัด ได้รับความเดือดร้อน มีผู้เสียชีวิต 49 คน และมีมูลค่าความเสียหายร่วม 6,000 ล้านบาท
พุทธศักราช 2537
เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม วัดปริมาณฝนมากที่สุดได้ที่เขตยานนาวา 457.6 มิลลิเมตร โดยเฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 200 มิลลิเมตร มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกกันว่า "ฝนพันปี" ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ตั้งแต่เขตยานนาวา สะพานควาย จตุจักร อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว ถนนสุขุมวิท ถนนสาทร สร้างความเดือดร้อนทั่วกรุงเทพฯ
พุทธศักราช 2538
เป็นเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่เกิดในประเทศไทย เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2538 ในยุคที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี พายุหลายลูกพัดกระหน่ำเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะพายุ "โอลิส" เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมตั้งแต่ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก จากนั้นน้ำเหนือได้ไหลลงสู่ภาคกลาง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สำหรับกรุงเทพมหานคร น้ำได้เริ่มท่วมตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน โดยเฉพาะพื้นที่เขตที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตบางพลัด ฯลฯ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวัดที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม มีค่าระดับสูงถึง 2.27 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วมปี พ.ศ. 2485)
ผลสรุปความเสียหาย ปรากฏว่าน้ำท่วมทั้งสิ้น 68 จังหวัด 585 อำเภอ มีผู้ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 4,500,000 คน จากทั้งหมด 1,163,871 ครอบครัว เสียชีวิต 260 คน มูลค่าความเสียหายไม่รวมสิ่งสาธารณูปโภคกว่า 6,598 ล้านบาท นับเป็นอุทกภัยที่มีความร้ายแรงมากที่สุดในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในรอบ 40 ปี
พุทธศักราช 2549
เกิดเหตุการณ์ฝนตกผิดปกติในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาไม่สามารถอุ้มน้ำฝนได้ ประกอบกับในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม พายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดน้ำท่วมอย่างหนักเป็นบริเวณกว้างกินพื้นที่ 47 จังหวัด ทั่วประเทศ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีสภาพน้ำท่วมขัง แม้จะมีการผันน้ำเข้าเก็บกักเอาไว้ในพื้นที่การเกษตรในจังหวัดภาคกลางตอนล่างเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแต่ก็ไม่สามารถรับไหว มวลนํ้าจึงไหลเข้าท่วมขังที่กรุงเทพฯ เกือบ 1 เมตร นานกว่าสัปดาห์
ขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ เจอฝนถล่ม วัดค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนได้ถึง 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ตกหนักสุดในเขตบางซื่อ วัดได้ถึง 110.5 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ระบบระบายน้ำท่วมของกรุงเทพฯ สามารถรองรับได้เพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เมื่อมวลน้ำเหนือไหลมาผสมโรงกับปริมาณน้ำฝน จึงเกิดน้ำท่วมขังถึงขั้นวิกฤต
พุทธศักราช 2554
น้ำท่วมปี 2554 นับว่าเป็น มหาอุทกภัย เพราะเป็นครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีพื้นที่ประสบภัยกระจายตัวในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ก่อนลุกลามเข้าสู่กรุงเทพมหานคร กินเวลานานกว่า 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมก่อนจะสิ้นสุดกลางเดือนมกราคม สาเหตุหลักเกิดจากประเทศไทยได้รับอิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ ทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า (26 มิ.ย.54) พายุโซนร้อนนกเตน (25 ก.ค.54) ไต้ฝุ่นเนสาด (23 ก.ย.54) พายุโซนร้อนไหถ่าง (28 ก.ย.54) พายุนาลแก (5 ต.ค.54) ทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย 35% ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท และจัดให้เป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย
Advertisement