ย้อนรอยแนวคิด ย้ายเมืองหลวง เคยปักหมุดไว้ที่จังหวัดใดบ้าง ข้อดีของแต่แห่งเป็นอย่างไร สาเหตุย้ายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร
จากข้อมูลที่ว่า กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในมหานครที่มีความเสี่ยงจมบาดาล ภายใน 50 ปี ผนวกกับเมื่อครั้นมวลน้ำเหนือจ่อถึงกรุงเทพฯ สุ่มเสี่ยงต่อสถานการณ์ "น้ำท่วม" ที่สร้างความเสียหายนานับประการ หัวข้อ "ย้ายเมืองหลวง" จึงมักถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นพูดถึงอยู่เสมอๆ
แนวคิดการย้ายเมืองหลวง เคยริเริ่มมาแล้วในอดีต ปักธงเลือกเมืองมาแล้วหลายจังหวัด
วันนี้ "อมรินทร์ทีวี ออนไลน์" จะพาไปย้อนรอยแนวคิดย้ายเมืองหลวง มีจังหวัดใดบ้างเคยเข้ารอบบ้าง? ข้อดีของแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร
จังหวัดนครนายก
ในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการพูดถึงประเด็น ย้ายเมืองหลวง ในงานสัมนา หัวข้อ "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก" นายกประยุทธ์ตำแหน่งในขณะนั้นได้โชว์วิสัยทัศน์ เรื่องการย้ายเมืองหลวงใหม่ โดยเหตุผลที่ยกขึ้นมาสนับสนุนก็คือ กระจายความเป็นศูนย์กลางในเขตเมืองออกไปยังพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ ลดความแออัด ลดปัญหาการจราจร โดยแผนมุ่งหน้าไป อ.บ้านนา จ.นครนายก และขยายเชื่อมกับ อ.หนองแค จ.สระบุรี
จังหวัดเพชรบูรณ์
ในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2481 - 2487) เคยมีแนวคิด ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยเหตุผลว่า อากาศดี ภูมิประเทศเป็นป่าทึบ ภูเขาสูง และเอื้อต่อภารกิจทางทหาร แต่อุปสรรคใหญ่คือ การคมนาคม ประกอบกับปัญหาเรื่องภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย สุดท้ายจึงล้มเหลว
จังหวัดลพบุรี
จอมพล ป.พิบูลสงคราม เจ้าโปรเจคต์คนเดิมสานต่อโครงการย้ายเมืองหลวงใหม่ โดยเลือก จ.ลพบุรี เหตุสำคัญคือเป็นเมืองพื้นที่ของทหาร แต่ติดปัญหาตรงที่ ลพบุรีเมื่อถึงหน้าน้ำน้ำท่วม เมื่อหน้าแล้งก็แล้งสุดใจ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาลพบุรีเพื่อเตรียมพร้อมเป็นเมืองหลวงใหม่ ได้มีการลงทุนวางผังเมืองไปแล้ว แต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดนรัฐประหารเสียก่อน โครงการฯ จึงยุติเพียงแค่นั้น
จังหวัดฉะเชิงเทรา
แนวคิดนี้เป็นของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2540) จุดเด่นของฉะเชิงเทราคือความหนาแน่นของประชากรน้อย น้ำท่วมน้อยกว่ากรุงเทพฯ ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้
สำหรับโครงการย้ายเมืองหลวงไปฉะเชิงเทราเป็นอันต้องยุติลงเพราะเหตุผลความไม่พร้อมของงบประมาณ และความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจในยุค "วิกฤตต้มยำกุ้ง"
จังหวัดนครปฐม
แนวคิดนี้เป็นของ นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ นครปฐมเคยถูกวางไว้เป็น เมืองหลวงแห่งที่สอง เนื่องจากเป็นจังหวัดติดกับกรุงเทพฯ ความเจริญ ทันสมัย ไม่แตกต่างจากกรุงเทพฯ มากเกินไปนัก แต่โครงการนี้ต้องยุติลงพร้อมการพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ นอกจากจังหวัดดังที่กล่าวมาแล้ว เคยมีผู้เสนอให้ย้ายเมืองหลวงไปที่ พิษณุโลก นครราชสีมา (โคราช) หรือ จังหวัดยะลา ก็เคยมีชื่อปรากฏด้วยเช่นกัน
ภาพจาก : เว็บไซต์ ห้องสมุดรัฐสภา
รวบรวมข้อมูลจาก : parliament : johnenglander : scmp.com
Advertisement