Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยจะต้องย้ายเมืองหลวง หลังกรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยจะต้องย้ายเมืองหลวง หลังกรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ

29 ส.ค. 67
17:30 น.
|
29K
แชร์

คำถามที่ต้องการคำตอบ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยจะต้องย้ายเมืองหลวง หลังกรุงเทพมหานคร เสี่ยงจมน้ำ

หลังจากที่ John englander เผยข้อมูลระบุว่า กรุงเทพมหานคร ติดอันดับหนึ่งในเมืองใหญ่ที่เสี่ยงจมน้ำ โดยอันดับ 1 เป็นของ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อันดับ 2 กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ อันดับ 3 โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม อันดับ 4 เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา และอันดับ 5 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย ได้ขยับรับมือปัญหานี้อย่างเด่นชัด ด้วยการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา ที่ทรุดตัวมากที่สุดในโลก ราว 30.5 เซนติเมตรต่อปี จนทำให้ความสูงของพื้นดินอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมากถึงร้อยละ 40 ไปอยู่ที่เมือง "นูซันตารา" (Nusantara) บนเกาะบอร์เนียว ห่างจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงเก่า ประมาณ 2,000 กิโลเมตร อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 200-4,095 เมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจากภาวะโลกร้อน ทำให้คำถามที่ว่า "ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยจะต้องย้ายเมืองหลวง?" กลายเป็นคำถามที่หลายคนเริ่มส่งเสียงออกมาถึงรัฐบาลในตอนนี้

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ร้อยละ 96 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นแอ่งกระทะ และเป็นดินอ่อน ทำเลที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร อัตราแผ่นดินทรุดคือ 2 เซนติเมตรต่อปี ส่วนระดับน้ำทะเลรอบกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นราวปีละ 4 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักกันว่ากรุงเทพฯ อาจกำลังจะจมน้ำภายในปี 2050 หรือ พ.ศ.2593 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมืองหลวงของไทยจะถูกลบออกจากแผนที่โลก แต่หมายถึงการที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องของน้ำทะเลที่หนุนที่อาจกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม หรือเกิดน้ำท่วมขังมากขึ้น ยาวนานขึ้น และมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 54

afp__20111108__hkg5550149__v1

ความเป็นไปได้ที่ไทยจะย้ายเมืองหลวง

สำหรับเรื่องการย้ายเมืองหลวง รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "กรุงเทพฯ เมืองหลวง ปรับเปลี่ยนหรือโยกย้าย" เมื่อปี 2565 โดยระบุว่า ปัญหาของกรุงเทพฯ นอกเหนือจากน้ำท่วม ซึ่งเกิดจากพื้นที่กรุงเทพฯ ต่ำกว่าระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำทะเลหนุน น้ำฝนแล้ว ยังมีในส่วนของวินัยของคน ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ การทิ้งขยะชิ้นใหญ่ในแหล่งน้ำ ที่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก ซึ่งหากย้ายเมืองไปที่อื่น แต่ยังมีการทิ้งขยะแบบนี้ ปัญหาก็เหมือนเดิม ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งกว่าน้ำท่วม อาทิ การกระจุกตัวของแหล่งงานใจกลางเมือง มูลค่าที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองแพง คนจึงมักจะซื้อบ้านนอกเมืองแล้วเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรแออัดตามมา การแก้ปัญหา แทนที่จะย้ายเมือง กระจายเมืองได้หรือไม่ กระจายงานออกด้านนอกมากขึ้นได้หรือไม่ เป็นต้น

ความหมายของเมืองไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง แต่เมืองคือคน เมืองคือตลาดแรงงาน หรือ labor market ความหมายการย้ายเมืองหลวงอาจจะมีมิติอื่นที่ไม่เหมือนในสมัยก่อน เพราะสมัยก่อนเศรษฐกิจถูกควบคุมโดยภาครัฐ แต่ปัจจุบันเป็น market control ที่เมื่อก่อนย้ายได้เพราะราชการเป็นคนจ้างงาน ปัจจุบันคนที่จ้างงานส่วนใหญ่คือเอกชน คำว่าย้ายเมืองจึงไม่ง่าย เพราะเป็นการย้ายคน ย้ายเศรษฐกิจ ย้ายตลาดแรงงาน ไม่ใช่การย้ายหน่วยงานราชการ

afp__20111110__hkg5563038__v1

ด้าน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ เคยเขียนบทความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จาการ์ตา และกรุงเทพฯ มีปัญหาที่คล้ายกัน คือเป็นเมืองหลวง เมืองราชการ เมืองธุรกิจ เป็นทุกอย่างของประเทศ ต่างเจอปัญหาวิกฤตเหมือนกันทั้งรถติด มลพิษ และที่หนักหนาคือ ปัญหาน้ำท่วม น้ำทะเลหนุน

นอกจากนี้ ทั้งสองเมืองยังเป็นเมืองดินอ่อน เป็นพื้นที่ปากแม่น้ำ ที่ดินทับถมใหม่ๆ ทรุดตัวง่ายตามธรรมชาติ และมีอัตราเร่งการทรุดตัวจากการพัฒนาเมือง และการสูบน้ำบาดาล แม้จาการ์ตาจะมีอัตราการทรุดตัวที่มากกว่ากรุงเทพฯ แต่พื้นดินกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยา และบางพื้นที่อาจอยู่ระดับใกล้เคียงระดับน้ำทะเลไปแล้ว เมื่อต้องถูกซ้ำเติมกับภาวะโลกร้อน ทำให้ฝนตกหนักขึ้น และน้ำทะเลสูงขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้จมบาดาลในอนาคต

แต่ทั้งนี้ ไทยไม่จำเป็นจะต้องย้ายเมืองหลวง เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ติดทะเลโดยตรง มีติดทะเลที่เขตบางขุนเทียนเพียงประมาณ 5 กม.เท่านั้น วิธีที่จะแก้คือการใช้ความรู้และการจัดการด้านวิศวกรรมศาสตร์มาช่วย ทั้งการผลักดันการป้องกันเมืองจมน้ำ ทั้งจากน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน อย่างยั่งยืน โดยต้องร่วมมือกับจังหวัดชายฝั่ง ทั้งสมุทรปราการ สมุทรสาคร เริ่มวางแผนการป้องกันกั้นน้ำทะเล ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่า 10-20 ปี ถึงจะทำสำเร็จ แต่ก็อยากให้รัฐบาลได้เริ่มทำและลงมือตั้งแต่วันนี้

"กรุงจาการ์ตา พยายามสู้มาหลายปี ทั้งลดปริมาณการสูบน้ำบาดาล และทำเขื่อนป้องกันน้ำทะเล แต่เมื่อคำนวณแล้ว หากประชากรยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมืองยังขยายไปเรื่อยๆ พื้นดินก็ทรุดตัวไปเรื่อยๆ ยังไงก็ลำบาก แล้วกรุงเทพ? เราจะไม่เตรียมอะไรเลยหรือครับ? ก็จมสิครับ แต่ผมยังมั่นใจ เรายัง "ฉุดกรุงเทพ" ให้รอดจากการจมน้ำในอนาคตได้" ดร.เอ้ กล่าว

afp__20061016__hkg335428__v2__1

ส่วน รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นเรื่องย้ายเมือหลวงผ่านทางเว็บไซต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่า การย้ายเมืองหลวงเป็นการตอบสนองวัตถุประสงค์ ของนโยบายยุทธศาสตร์การสร้างชาติรูปแบบหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้นำประเทศมองเห็นว่าจะได้อะไรกับการย้ายเมืองที่เป็นศูนย์กลางการปกครองนั้นๆ ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่ใช้ต้นทุนสูงในการสร้างพื้นที่ใหม่ และทำลายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม

ประเทศไทย เคยมีแนวคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีอีกหลายจังหวัดที่เคยถูกยกขึ้นมา เช่น ฉะเชิงเทรา นครปฐม นครนายก แต่ท้ายที่สุดแนวคิดการย้ายเมืองหลวงของไทยก็ไม่สำเร็จ เพราะการย้ายเมืองหลวงคือการทุ่มทุนมหาศาล เป็นภาระทางการคลังของรัฐบาลอย่างหนัก ต้องเริ่มต้นจากศูนย์เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจที่มีการใช้นวัตกรรม

เพราะฉะนั้นการย้ายเมืองหลวงไม่ใช่คำตอบเดียวของการแก้ปัญหาความแออัดของเมือง แต่ควรเน้นไปที่การกระจายความพัฒนาไปสู่เมืองอื่นๆ เพิ่มทางเลือกให้แก่เมืองรองลงมา ให้คนไม่มากระจุกตัวที่กรุงเทพฯ การย้ายเมืองหลวงจึงไม่น่าจะใช่ทางออกของการแก้ปัญหาทั้งหลายที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญอยู่ ทั้งผังเมือง แผ่นดินทรุด น้ำท่วม ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถใช้วิธีการทางวิศวกรรมและการใช้ประโยชน์จากที่ดินแก้ปัญหาได้ หากมีการวางแผนที่ดีพอ

แม้วันนี้คำถามเรื่องการย้ายเมืองหลวง ยังไม่เคยมีใครให้คำตอบออกมาได้ชัดเจนว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าการย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องง่าย ทางที่ดีที่สุดก็คือ หาทางออกให้คนอยู่ร่วมกับน้ำให้ได้ เพราะหากไม่หาวิธีรับมือป้องกัน แล้วไปแก้ที่ปลายเหตุเมื่อเกิดวิกฤติแล้ว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม ในระดับที่ประเมินมิได้ เหมือนที่คนไทยเคยประสบมาแล้วเมื่อปี 54 หากไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ถึงวันนั้นมันอาจสายเกินไป ต้องปล่อยให้กรุงเทพฯ จมทะเลตามคำทำนาย โดยที่แก้ไขไม่ทันแล้ว

Advertisement

แชร์
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยจะต้องย้ายเมืองหลวง หลังกรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ