จากเนเธอร์แลนด์ ถึง กรุงเทพฯ โมเดลจัดการน้ำ Delta Works ทำได้หรือไม่ หากไทยไม่ย้ายเมืองหลวง

30 ส.ค. 67

อีก 26 ปี กรุงเทพฯ จะจมน้ำ จะอยู่อย่างไรหากไทยไม่ย้ายเมืองหลวง โมเดลจัดการน้ำ Delta Works จากเนเธอร์แลนด์ทำได้หรือไม่ จะรีบหาทางป้องกันแก้ไข หรือนั่งหายใจรอน้ำอยู่เหนือแผ่นดิน

จากข้อมูลที่ระบุว่า กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย เสี่ยงที่จะจมทะเลภายในปี 2050 เนื่องจากพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นแอ่งกระทะ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร และอัตราแผ่นดินทรุด 2 เซนติเมตรต่อปี ส่วนระดับน้ำทะเลรอบกรุงเทพฯ ก็สูงขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งการที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องของน้ำทะเลที่หนุนที่อาจกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม หรือเกิดน้ำท่วมขังมากขึ้น ยาวนานขึ้น และกลายเป็นท่วมแบบถาวร โดยมีการคาดว่า ในอีกประมาณ 6 ปี ข้างหน้า น้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 10 เซนติเมตร และเมื่อผ่านไป 30 ปี สูงขึ้นอีก 40-50 เซนติเมตร และอีก 80 ปีข้างหน้า น้ำทะเลอาจจะสูงขึ้นถึง 1.50 เมตร

เรื่องนี้ทำให้หลายคนเป็นห่วง และมองเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย ก็ได้วางแผนล่วงหน้าด้วยการเร่งสร้างเมืองหลวงใหม่จากเดิมอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ก็ย้ายไปอยู่ที่ เมืองนูซันตารา บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 200-4,095 เมตร และมีคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะมีการ "ย้ายเมืองหลวง" เพื่อลดความแออัด กระจายความเจริญ และเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมเข้าสู่เมืองหลวง อันเป็นศูนย์รวมอำนาจ การปกครอง สังคม และเป็นพื้นที่หัวใจหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศ

afp__20240716__36483cg__v1__h_1

อย่างไรก็ตาม การย้ายเมืองหลวง ไม่ใช่เรื่องง่ายนอกจากจะมีต้นทุนด้านงบประมาณที่สูงลิบลิ่วแล้ว ยังต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น การจ้างงาน การปลูกสร้างสาธารณูปโภค การข้ามถิ่นของประชากร ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพราะฉะนั้นการย้ายเมืองหลวงอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่อาจจะเป็นการหาทางอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืนมากกว่า ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถใช้วิธีการทางวิศวกรรมและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการหลายท่านได้เอ่ยถึงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำของ "เนเธอร์แลนด์" ว่าประเทศไทยควรจะศึกษาแล้วนำมาปรับใช้กับกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นโครงการต้นแบบการจัดการน้ำที่ทั่วโลกยกย่อง

Delta Works ระบบบริหารจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์

ทำเลที่ตั้งของ เนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ที่บริเวณลุ่มปากแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำเมิซ แม่น้ำไรน์ และแม่น้ำสเกลต์ ซึ่งเชื่อมติดกับทะเลเหนือ ทำให้พื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล ทำให้เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเป็นอย่างมาก กระทั่งคืนวันที่ 31 มกราคม ปี 1953 เนเธอร์แลนด์เผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือที่เรียกกันว่า The 1953 North Sea flood เกิดพายุรุนแรง ยกน้ำทะเลให้มีระดับที่สูงกว่าปกติ ก่อนจะไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 2,000 ราย พื้นที่ร้อยละ 9 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ คนนับแสนไร้ที่อยู่แบบฉับพลัน

istock-1807768654

วิกฤติครั้งใหญ่หลวงนี้ ทำให้เนเธอร์แลนด์หาวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ด้วยการระบบบริหารจัดการน้ำ Delta Works ใช้งบประมาณทั้งการค้นคว้า วิจัย ก่อสร้างไปกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย 16 โครงการ ตั้งแต่เขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คันกั้นดิน และกำแพงกั้นคลื่นทะเล ทั้งแบบกั้นถาวรและสามารถเปิดปิดได้ โดยกลไกของคันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ และกำแพงกั้นคลื่น คือการกักเก็บน้ำในแม่น้ำทุกสายของเนเธอร์แลนด์ ไม่ให้ไหลเข้าสู่ที่ลุ่ม ระบบป้องกันทั้งหมดเชื่อมโยงถึงกัน โดยกั้นตั้งแต่ปากแม่น้ำ ไปจนถึงแม่น้ำในประเทศ ซึ่งนอกจะส่งผลดี เพราะตัวชายฝั่งรับน้ำถูกเลื่อนให้อยู่ไกลจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยแล้ว น้ำส่วนที่อยู่ด้านในเขื่อนยังเป็นน้ำสะอาด ซึ่งสามารถใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย

โครงการ Delta Works ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการของชาวเนเธอร์แลนด์ได้อย่างมั่นคงถาวร จนได้รับการยกย่องจาก The American Society of Civil Engineers ว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกของยุคใหม่

istock-1094465810

Delta Works จากเนเธอร์แลนด์ จะนำมาใช้กับประเทศไทย ได้หรือไม่

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ หรือ TEAM GROUP และนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า อีกประมาณ 26 ปี หรือในปี 2050 ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้น 75 เซนติเมตร น้ำเค็มจะเอ่อไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง ณ ตอนนี้เอ่อไปถึงจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าบางช่วงคนกรุงเทพฯ ต้องประสบปัญหาน้ำประปาเค็มก็เกิดจากเหตุนี้ และหากไปถึงปี 2050 ที่น้ำทะเลจะสูงขึ้นอีกมากนั้น ก็สามารถวิ่งไปถึงพระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง ซึ่งเราต้องหาหนทางป้องกัน จะบอกว่าต่อสู้คงไม่ได้เพราะสภาวะโลกร้อนตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว

1725011937983

การแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ควรนำองค์ความรู้จาก Delta Works ของเนเธอร์แลนด์มาปรับใช้ โดยการสร้างกระเปาะที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา คือ บางปะกง ท่าจีน และแม่กลอง กั้นไม่ให้น้ำทะเลเข้า และมีประตูระบายน้ำที่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเล เมื่อระดับน้ำในเมืองสูงขึ้น ต้องเริ่มทำแนวคันกั้นน้ำใหม่ ให้มีความสูงเพียงพอ และต้องบริหารจัดการแบบกึ่งอัตโนมัติ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะใช้เวลาถึง 20 ปีเต็ม แต่กรุงเทพมหานครยังเหลืออีก 26 ปี ก็ยังพอมีเวลาที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาทางคุยอย่างจริงจัง ก่อนที่กรุงเทพฯ จะจมน้ำตามที่คาดการณ์ไว้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม