เปิดตำนาน "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ความเป็นมา วัตถุประสงค์ของโครงการ ความขัดแย้ง และสาเหตุที่ทำให้โครงการฯ หยุดชะงัก หลากมุมมองปัดฝุ่นสร้างต่อ ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือ?
จุดเริ่มต้นแนวคิดปัดฝุ่น "เขื่อนแก่งเสือเต้น" แก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดจากการที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ น้ำท่วมสุโขทัย ในช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน นายภูมิธรรมได้เผยถึงไอเดียผลักดันรื้อแผนโครงการสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ขึ้นมาใหม่ วัตถุประสงค์ก็เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดลุ่มแม่น้ำยม เกิดกระแสหนุน-ค้าน ร้อนฉ่าขึ้นมาทันที!!
ฝั่งหนุน : ชูเหตุผล "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ต้องไปต่อ
ฝั่งหนุนให้ไปต่ออย่าง ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เขื่อนแก่งเสือเต้น ว่า
"ขอพูดเรื่อง แก่งเสือเต้น อีกครั้ง
โพสต์เมื่อสองวันที่แล้ว เรื่องแม่น้ำยมไม่มีเครื่องมือควบคุมจึงได้ยกเรื่องเก่าคือแก่งเสือเต้นขึ้นมา ต้องขอบคุณที่มีผู้สนใจมากมายหลายหมื่นคน วันนี้ขอลงรายละเอียดเพิ่มอีกสักนิด
1. ผมเป็นนักเรียนสิ่งแวดล้อมรุ่นแรกๆ ของประเทศ เป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ผมสอนหนังสือและบรรยายเรื่องสิ่งแวดล้อมเกือบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะไม่เข้าใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
2. ผมเป็นอธิบดีกรมป่าไม้และเป็นปลัดกระทรวงทส. มานานถึง 8 ปี และเป็นผู้ให้กำเนิดกรมอุทยานฯ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะไม่รักและหวงแหนป่า ในสมัยผมประเทศไทยมีป่ามากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 33% (Forest cover)
3. มีการพูดเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตั้งแต่ปี 2519 จุดที่จะสร้างมีชื่อว่า บ้านห้วยสัก ต. สะเอียบ จ.แพร่
ปัจจุบันอยู่ใน อุทยานแห่งชาติแม่ยม มีน้ำลึกเฉลี่ย 1.31 เมตร น้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,278 cu.sec. แต่ในปีนี้ด้วยพายุฝน น้ำลึกถึงเกือบ 10 เมตร มีน้ำไหลด้วยความเร็ว 1,000-1,500 cu.sec. ตลอดอาทิตย์ และด้วยฝน 5-7 วันในช่วงพายุมีฝนรวม 500-600 มม. ก่อให้เกิดมวลน้ำขนาดมหึมาอาจมากถึง 5,000 ล้านลบ.ม. มวลน้ำจำนวนนี้แหละที่ไหลลงไปท่วมภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่และสุโขทัย เป็นต้น
4. ในปัจจุบันได้มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการสร้างเขื่อนใหญ่แก่งเสือเต้นบนลำน้ำยม (main stream) พบว่า หากสร้างในลำน้ำสาขา 26 แห่ง ราคาจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวแต่เก็บน้ำได้น้อยลง 1 เท่า ทำให้ใช้เพื่อการป้องกันอุทกภัยไม่ได้
5. สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ท่าเทียบเรือ ถนนหรือทางรถไฟ ล้วนกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แต่หากมันจำเป็นต้องสร้างเพื่อความปลอดภัยของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนเพื่อพัฒนาประเทศ มันก็ต้องทำ เพียงแต่ต้องทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดและคุ้มค่าที่สุดเท่านั้น ชาติไหนในโลกก็ทำทั้งนั้นครับ
6. การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต้องเสียพื้นที่ป่าประมาณ 2 ไร่ ซึ่งเราคงต้องยอม แต่ก็สามารถเรียกคืนมาได้เช่น หยุดเรื่องที่คิดจะเฉือนอุทยานทับลาน 200,000 ไร่เสีย ก็ทดแทนกันได้แล้ว ใช่ไหมครับ หรืออนุญาตให้เอกชนปลูกป่าเศรษฐกิจในเขตป่าสงวนที่เสื่อมโทรม ซึ่งมีมากกว่า 5 ล้านไร่ ก็จะกำไรด้วยซ้ำ
ผมเกิดมา 80 ปี ประเทศไทยควรจะเจริญกว่านี้ ที่ไม่เจริญก็เพราะจะเอาชนะคะคานกัน โดยไม่มองประโยชน์ของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ กลุ่ม NGO และชาวสะเอียบ ซึ่งผมก็เชื่อว่า ท่านรักส่วนรวมและก็มีความรู้ หันกลับมาพูดคุยกันเถอะครับ เพื่อลูกหลานของพวกเราในอนาคต
ฝั่งค้าน : นักอนุรักษ์-ชาวสะเอียบ ชี้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแก้น้ำท่วมไม่ตรงจุด บริหารล้าหลัง
นาย ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เห็นค้าน ปมสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ลุ่มน้ำยม โดยมองว่าการสร้างเขื่อนไม่ใช่ประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหา
การจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม เป็นเรื่องของการจัดการที่น่าจะเป็นประเด็นหลัก ซึ่งเรื่องการสร้างเขื่อน เป็นเพียงจิ๊กซอว์เดียวในการกักเก็บน้ำในปริมาณมาก แต่ย้ำว่า ทางนักวิชาการ และคนในพื้นที่ มีความเห็นว่า ควรบริหารจัดการน้ำไปในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมน่าจะดีกว่า
ชาวบ้าน ต.สะเอียบ นำโดย นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประธานคัดค้านการสร้างเขื่อน รวมตัวกันคัดค้านรื้อโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ฉะนักการเมืองหัวโบราณสร้างเขื่อนแก้ปัญหาน้ำ
"การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต ต้องเคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายธรรมชาติอันจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่หนักหน่วงกว่าเดิม หมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว ให้คนรุ่นใหม่ ใช้ความคิดใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการแก้ไขปัญหา อย่าจมปลักอยู่กับความคิดโบราณ โลกไปถึงขั้นรื้อเขื่อนแล้ว แต่นักการเมืองโบราณยังคงหากินอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ อยู่ พอทีเถอะ"
นาย ศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อดีตประธานมูลนิธิ สืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นร้อนข้างต้นว่า
"สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะแก้ปัญหาน้ำท่วมสุโขทัยได้หรือไม่ ?
ตอบแบบนักวิทยาศาสตร์ เขื่อนจะอยู่ไกลจังหวัดสุโขทัยสองร้อยกว่ากิโลเมตร และรับน้ำจากพื้นที่ลุ่มน้ำยมที่ลงมาเมืองสุโขทัย คิดเป็นตัวเลขราวๆ 10 % ดังนั้นจึงลดน้ำท่วมสุโขทัยได้จริงครับ ราวๆ 10%
แต่ลดน้ำท่วมที่เมืองแพร่ได้มากจริงๆ แต่น้ำท่วมที่แพร่ไม่มีบ่อยนัก ปีนี้ก็ท่วมแบบน้ำป่าบ่ามาจากห้วยไหนบ้างก็ไม่รู้ แต่คงไม่ได้เอ่อจากน้ำยม อันนี้ผิดพลาดขออภัย
ถ้าหากจะลดน้ำท่วมสุโขทัยให้ได้ผลจริงๆ ควรสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยมในตำแหน่งใกล้เมืองสุโขทัยกว่านั้น เช่นในหุบเขาในอำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งไม่น่าจะสร้างได้ เพราะมีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่เต็มไปหมดแล้ว ดังนั้น น้ำท่วมสุโขทัยควรหาทางระบายน้ำ ไปหาที่รับน้ำในทุ่งให้มากที่สุด น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด"
รู้จัก "เขื่อนแก่งเสือเต้น" วัตถุประสงค์ในการสร้าง ปัญหาและความขัดแย้ง โครงการฯ หยุดชะงัก
"เขื่อนแก่งเสือเต้น" ยังไปไม่ถึงบทสรุป ทว่า จุดเริ่มต้นได้เกิดขึ้นมานานแล้วกว่า 35 ปี โครงการแก่งเสือเต้น มีจุดเริ่มต้นจาก มติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2523 แต่เดิม โครงการแก่งเสือเต้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ กก-อิง-ยม-น่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขภัยแล้ง และน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยได้มีการปรับ และเปลี่ยนแปลงโครงการมาหลายครั้ง เพื่อลดกระแสต่อต้านของสังคม เนื่องจากโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ทั้งในด้านสัตว์ป่าและด้านป่าไม้
การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกผลักดันมาแล้วในหลายรัฐบาล ครั้งล่าสุด พ.ศ.2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยิบยกโครงการนี้ขึ้นมาศึกษาอีกครั้ง และก็เป็นอีกครั้งเช่นกันที่ถูกคัดค้านจนต้องยุติไป
ข้อมูลอิง : ภูมิธรรม ลั่น ถึงเวลาสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น ช่วยแก้น้ำยมท่วมซ้ำซาก
tdri.or.th , มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
Advertisement