สรุป สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ 11 ก.ย.67 เผย 48 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 13-18 ก.ย. นี้
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 ก.ย. 67 เวลา 7.00 น. เตือน 48 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 13-18 ก.ย. นี้
1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด
ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงใหม่ (222) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครพนม (91)
ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (41) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (124) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (45 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (48)
สภาพอากาศวันนี้ 11 ก.ย.67
ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศเมียนมาตอน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ
คาดการณ์ ช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม
ปริมาณน้ำรวม 64% ของความจุเก็บกัก (51,736 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 48% (27,555 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 13 - 18 ก.ย. 67
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณที่ลุ่มต่ำและชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ รวมทั้งน้ำป่าไหลหลาก บริเวณ
ภาคเหนือ : เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : ลพบุรี สระบุรี กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และสตูล
4.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ และความก้าวหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ณ จ.อุดรธานีและบึงกาฬ
วานนี้ (10 ก.ย. 67) สทนช. ได้มีประชุมติดตามสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ร่วมกับกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ได้ติดตามพื้นที่ที่ได้ผลกระทบจากการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง (คลองหลวง) และความพร้อมของสถานีโทรมาตรขนาดเล็ก บริเวณสะพานข้าม
ลำห้วยหลวง บ้านเชียงยืน ต.เชียงยืน อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
ความมั่นคงของเขื่อนป้องกันการกัดเซาะและสูญเสียดินแดนริมตลิ่งแม่น้ำโขง และประตูระบายน้ำห้วยกำแพง อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ได้เน้นให้บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำแบบรายลุ่มน้ำหรือกลุ่มลุ่มน้ำ และทบทวนในส่วนของการระบายน้ำของอ่างฯห้วยหลวง หากคงอัตราการระบายน้ำไว้ในระดับเดิม ศักยภาพของอ่างฯ อาจไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำในช่วงที่ฝนตกหนักได้ โดยดำเนินการเร่งพร่องน้ำในช่วงที่ฝนนตกน้อย เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่ท้ายเขื่อน
5. สถานการณ์น้ำท่วม : สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 10 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่
จ.เชียงราย (อ.แม่สาย เชียงของ ขุนตาล และพญาเม็งราย)
จ.เชียงใหม่ (อ.ฝาง และแม่อาย) จ.ตาก (อ.แม่สอด)
จ.สุโขทัย (อ.กงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ)
จ.อ่างทอง (อ.วิเศษชัยชาญ) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา บางบาล บางปะหัน ผักไห่ บางไทร พระนครศรีอยุธยา และบางปะอิน)