วิธีตรวจสอบสิทธิ์รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท "กลุ่มเปราะบาง" และ "กลุ่มคนผู้พิการ" นอกจาก "แอปรัฐจ่าย" มีวิธีไหนบ้าง บัตรหมดอายุจะได้เงินไหม เช็กช่องทางผูกพร้อมเพย์ และกำหนดวันโอนรอบเก็บตก!
โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่จะโอน "เงินสด" ให้กลุ่มเปราะบางรวมถึงกลุ่มผู้พิการ ได้เปลี่ยนเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อ และเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน หรือผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง (เฉพาะกรณีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย "กลุ่มเปราะบาง" จำนวนประมาณ 12.4 ล้านคน ประกอบด้วย
- ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้วตามฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง และไม่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
- ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
- ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ ตามฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา แต่ไม่อยู่ในฐานข้อมูลของ พก. พม.
ทั้งนี้ จะใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งไม่รวมถึงผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จ และเป็นบุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ตามที่ พม. ได้ยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง
อีกส่วนสำหรับ "กลุ่มผู้พิการ" วัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ และเพิ่มศักยภาพของคนพิการซึ่งเป็นผู้เปราะบางที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็นของคนพิการแต่ละประเภทในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่
1. ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา
2. บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ (กรณีไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการตามข้อ 1 ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 2.15 ล้านคน ประกอบด้วย
- คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่ยังไม่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
- คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
- คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
- คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ตามฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
ทั้งนี้ จะใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 และไม่รวมถึงคนพิการที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ตามที่ยืนยันข้อมูลคนพิการดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง
การดำเนินการทั้ง 2 กลุ่ม กรมบัญชีกลางจะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป โดยขณะนี้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมที่จะจ่ายเงิน ดังนี้
- 25 กันยายน 2567 กลุ่มผู้พิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 0
- 26 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 1-3
- 27 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 4-7
- 30 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 8-9
ทั้งนี้ ขอให้กลุ่มเป้าหมายตามโครงการ ได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือหากยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ ก็ขอให้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน และสำหรับคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการหรือบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ขอให้ดำเนินการทำบัตรหรือต่ออายุบัตรให้เรียบร้อยภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เพื่อรับสิทธิตามโครงการดังกล่าว
ช่องทางหลักในการตรวจสอบสิทธิและผลการได้รับเงินในโครงการ โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
1. เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th/welfare/home
2. เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th
3. เว็บไซต์ https://govwelfare.dep.go.th/check (เฉพาะคนพิการ)
4. แอปพลิเคชัน "รัฐจ่าย" (โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง)
5. ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทร. 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง
คลิก : 10 เรื่องต้องรู้ ก่อนกลุ่มเปราะบางคนพิการรับเงินหมื่น
อยากไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า หากในวันที่มีการโอนแล้วยังมีประชาชนตกหล่นไม่ได้รับเงิน หรือไม่ผ่านก็จะมีการโอนซ้ำอีก 3 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 22 ตุลาคม ครั้งที่ 2 วันที่ 22 พฤศจิกายน และครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 หากประชาชนอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับแต่ไม่ได้รับเงินในช่วงดังกล่าว ก็จะมีการทดลองโอนอีก 3 ครั้ง ระหว่างนั้นประชาชนสามารถไปแก้ไขการผูกบัญชีให้เรียบร้อยครบถ้วน หากเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว กระทรวงการคลังจะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินจากโครงการนี้
ช่องทางติดต่อสอบถามเพิ่มเติมแยกเป็นประเภทบัตร
กลุ่มผู้พิการ
1. ศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. โทรศัพท์สายด่วน (Call Center) 1300
2. พก. โทร. 0 2354 3388 ต่อ 701 - 702 (หน่วยงานออกบัตรประจำตัวคนพิการ)
3. ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น. - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสถานที่ตั้งและเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์บริการคนพิการแต่ละแห่งได้ทางเว็บไซต์ www.dep.go.th/th/contact-us/dsc-contactcenter
4. อปท. กทม. หรือเมืองพัทยา ที่คนพิการรับเงินเบี้ยความพิการ ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น. - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
1. ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โทร. 0 2109 2345 ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น. - 17.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
2. Call Center กรมบัญชีกลาง โทร. 0 2270 6400 ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น. - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
คลิก : เช็กด่วน! กลุ่มเปราะบาง-คนพิการ หากเงินหมื่นไม่เข้าบัญชีทำอย่างไร?