จากชื่อแบรนด์กลายเป็นชื่อเรียกแทนสินค้า ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน แต่ถ้าเป็นคนไทยเป็นอันเข้าใจตรงกัน
เมื่อใครหรือบริษัทใดคิดค้นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาออกวางจำหน่าย ย่อมต้องการให้สินค้านั้นขายดี เป็นที่ต้องการของตลาด และที่สำคัญลูกค้าต้องจดจำสินค้าได้ ซึ่งมีหลายผลิตภัณฑ์ที่เจาะตลาดในเมืองไทยแล้วประสบความสำเร็จอย่างสูง จนชื่อแบรนด์กลายเป็นชื่อเรียกแทนสินค้า ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลไหน เกิดในยุคใด ก็พร้อมใจกันเรียกแบบนั้น และเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงอะไร และนี่คือสินค้าที่ขึ้นแท่นเป็นตำนาน คนไทยเรียกขานกันจนติดปากตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
• มาม่า
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และได้รับความนิยมอย่างมาก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากขาดแคลนอาหาร สำหรับประเทศไทยเจ้าแรกที่เข้ามาทำตลาดคือ "ซันวา" แต่ไม่ประบความสำเร็จ จนกระทั่งปี 2515 บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด โดยนายห้าง "เทียม โชควัฒนา" ได้ร่วมมือกับบริษัทจากไต้หวัน สร้างแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชื่อ "มาม่า" ออกวางจำหน่าย แม้ช่วงแรกจะยังขายไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อทำการตลาด และปรับปรุงจนถูกปากคนไทย ประกอบกับราคาย่อมเยาทำให้ขายดีมาจนกระทั่งวันนี้ที่คนไทยเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า "มาม่า" ต่อให้จะเป็นยี่ห้ออื่นก็ต้องเรียกแบบนี้เท่านั้น
• แฟ้บ
บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ ผลิตผงซักฟอก "แฟ้บ" ขึ้นมาในปี 2493 โดย FAB ย่อมาจาก Faster and Better คือการโฆษณาอวดสรรพคุณว่าใช้แล้วการซักผ้าจะเร็วขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากจากแม่บ้านชาวไทย เพราะใช้ง่ายเพียงแค่รองน้ำ เทแฟ้บลงไปผสม ก็ซักผ้าได้สะอาด ประหยัดเวลา จึงทำให้กลายเป็นสินค้าที่ครองใจคนไทยเป็นระยะเวลานาน แม้ทุกวันนี้แฟ้บอาจจะไม่ใช่เจ้าตลาดหรือเป็นตัวเลือกแรกๆ ของคนไทย แต่ชื่อนี้ก็กลายเป็นตำนานจนถูกยกให้เป็นสรรพนามในการเรียกชื่อผงซักฟอกยี่ห้ออื่นๆ
• แพมเพิร์ส
"แพมเพิร์ส" เป็นชื่อแบรนด์ผ้าอ้อมในสหรัฐอเมริกา เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 1961 ผู้คิดค้นคือ วิค มิลส์ ซึ่งทำงานให้กับบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เขามองเห็นความยากลำบากในการใช้ผ้าอ้อมเปลี่ยนให้เด็ก เพราะแต่ก่อนคนเลี้ยงจะใช้ผ้าทั่วไป เมื่อใช้เสร็จก็ต้องซักเพื่อนำมาใช้ซ้ำ แต่บางครั้งก็ซักออกยาก จึงทำให้เกิดผ้าอ้อมสำเร็จรูปขึ้นมา แพมเพิร์ส เป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำตลาดผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูปในไทย จนทำให้คนเรียกติดปากและส่วนใหญ่เข้าใจว่า คำว่าแพมเพิร์ส ในภาษาอังกฤษแปลว่า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป แม้ปัจจุบันจะมีคู่แข่งหลายเจ้าและไม่ใช่ผู้ครองตลาดรายใหญ่ในไทย แต่คนไทยก็ยังคงติดปากใช้คำว่า แพมเพิร์ส เรียกแทนผ้าอ้อมเหมือนเดิม
• สก๊อตช์เทป
ผู้คิดค้นคือ ริชาร์ด ดรูว์ วิศวกรชาวอเมริกัน แรกเริ่มใช้สำหรับให้ช่างสีแปะบนตัวถังรถเพื่อแบ่งพื้นที่ในการทำสี แต่ด้วยความที่ยังไม่เหนียวหนึบพอ ช่างจึงบอกริชารืดแกมประชดแดกดันว่า ให้เอามันไปให้ชาวสก๊อตช์ทากาวให้เยอะกว่านี้ โดยคำว่า "สก๊อตช์" คือคนเชื้อชาติหนึ่งทางตอนเหนือของอังกฤษ ที่ถูกคนในยุคนั้นถูกมองว่ามีนิสัยขี้เหนียว จนกลายเป็นที่มาของชื่อผลิตภัณฑ์เด่นของ 3M คือ สก๊อตช์เทป และคนไทยก็เรียกมันจนติดปากนั่นเอง
• สก๊อตช์-ไบรต์
มีจุดเริ่มต้นจากบริษัท 3M ต้องการขาย "ริบบิ้นห่อของขวัญ" ทำจากผ้าสปันบอนด์ที่มีเนื้อสาก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีต้นสูง ทำให้ราคาแพง บริษัทจึงหันมาใช้เส้นใยสากๆ นี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ชื่อว่า "สก๊อตช์-ไบรต์" ซึ่งทำออกมาแล้วได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะขจัดสิ่งสกปรกบนพื้นผิวต่างๆ ได้อย่างหมดจด สก๊อตช์-ไบรต์ เข้ามาในเมืองไทยเมื่อปี 2505 ครองใจคนไทยได้อย่างเหนียวแน่น จนทุกวันนี้เมื่อพูดถึงฟองน้ำล้างจานผู้คนก็จะเรียกมันว่า สก๊อตช์-ไบรต์
• คอฟฟี่เมต
ปี 2501 บริษัทคาร์เนชันได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ครีมเทียมชื่อ "คอฟฟี่เมต" เพื่อใช้ทดแทนนมสำหรับใส่ในกาแฟให้เข้มข้นหอมมันจนได้รับความนิยมจากผู้คนอย่างล้นหลาม ต่อมาในปี 2528 เกิดการควบรวมกิจการกับเนสท์เล่ แล้วเริ่มส่งสินค้ามาตีตลาดกาแฟในเมืองไทย และประสบความสำเร็จอย่างสูง แทบทุกครัวเรือนต้องมีคอฟฟี่เมตติดบ้านสำหรับใส่กาแฟหรือเครื่องดื่มต่างๆ จนชื่อของคอฟฟี่เมตถูกแทนที่คำว่าครีมเทียมอย่างแพร่หลาย ถึงขั้นที่ต่อให้มีคู่แข่งจะมาทาบรัศมี ผู้คนก็ยังเรียกครีมเทียมว่าคอฟฟี่เมตอยู่ดี
• ซีร็อกซ์
"ซีร็อกซ์" เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นมาจาก เชสเตอร์ คาร์ลสัน นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน และผู้ช่วยที่ชื่อ อ็อตโต คอร์เน พวกเขาพยายามคิดค้นวิธีการต่างๆ จนกระทั่งสร้างเครื่องถ่ายเอกสารซีโรกราฟิกตัวต้นแบบได้สำเร็จ ก่อนจะไปจับมือกับ โจ วิลสัน เจ้าของบริษัท ฮาลอยด์ คอมพานี ในปี 2489 แล้วใช้เวลาถึง 12 ปี ร่วมกันพัฒนาเครื่องถ่ายเอกสารนี้ออกมาในชื่อแบรนด์ว่า ซีร็อกซ์ จนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเมื่อเอ่ยปากว่า ซีร็อกซ์ คนไทยและบางประเทศก็เข้าใจตรงกันว่าหมายถึง การถ่ายเอกสารนั่นเอง
• ลิควิด
เบ็ตต์ แคลร์ แมคเมอร์เรย์ เป็นเลขานุการในสำนักงานทนายความ งานของเธอต้องใช้พิมพ์ดีดเป็นประจำ และปัญหาที่เจอเสมอคือพิมพ์ผิด ก่อนจะเกิดไอเดียเห็นช่างทาสีแก้ไขความผิดพลาดด้วยการทาสีทับ เธอจึงนำสีขาวมาป้ายทับบนเอกสารต่างๆ จนเพื่อนร่วมงานสังเกตเห็นแล้วขอร้องให้เธอทำให้พวกเขาบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำธุรกิจ "น้ำยาลบคำผิด" โดยตอนแรกใช้ชื่อว่า มิสเทค เอาท์ (Mistake Out) ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ลิควิด เปเปอร์ (Liquid Paper) ในเวลาต่อมา และยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในปี 2499 สร้างยอดขายอย่างถล่มทลายกลายเป็นเศรษฐี จนปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีการใช้อยู่ในงานเอกสารต่างๆ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบจากขวดที่มีพู่กันป้าย มาเป็นแท่งแล้วบีบน้ำยาป้ายทับลงไป พร้อมกับที่ทุกคนเรียกมันสั้นๆ ว่า "ลิควิด"
• แม็กซ์
บริษัท เอ็มเอเอ็กซ์ จำกัด (MAX) บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1942 จัดจำหน่ายสิ่งของเครื่องใช้ในสำนักงาน สินค้าตัวแรกคือ "ที่เย็บกระดาษ" ออกวางจำหน่ายในปี 2495 ใช้ชื่อว่า "SYC-10" ซึ่งเป็นเครื่องเย็บกระดาษขนาดเล็ก ก่อนจะพัฒนาให้มีรูปแบบต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่ ที่เย็บแบบติดผนังด้วยมือ เครื่องยิงตะปู ฯลฯ วึ่งบนตัวผลิตภัณฑ์มีการใส่ชื่อบริษัท เอ็มเอเอ็กซ์ (MAX) ลงไปจนทำให้คนไทยเรียกเจ้าเครื่องนี้ว่า "แม็กซ์" ส่วนลวดเย็บกระดาษก็ถูกเรียกว่า "ลูกแม็กซ์" เช่นกัน
• ทัปเปอร์แวร์
ทัปเปอร์แวร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1946 โดย เอิร์ล ทัปเปอร์ เด็กหนุ่มชาวไร่ที่เคยทำงานโรงงานพลาสติก ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเพราะสะดวกสบาย ปิดได้สนิทหนาแน่น ช่วยยืดอายุของอาหาร ปลอดจากสารต่างๆ ก่อนจะเข้ามาสู่เมืองไทยและเป็นขวัญใจแม่บ้านจนกลายเป็นชื่อเรียก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจทัปเปอร์แวร์กลับต้องสู่ช่วงตะวันตกดินเพราะล่าสุด บริษัททัปเปอร์แวร์กำลังวางแผนเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองจากศาลจากการล้มละลาย เนื่องจากมีหนี้สินกว่า 700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 23,264 ล้านบาท บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของการชำระหนี้ และได้ขอความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาทางกฎหมายและการเงิน และกำลังจะปิดปิดโรงงานที่มีเพียงแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกา