ส่อขาดคุณสมบัติ? เรืองไกร ยื่นกกต.สอบนายกฯอิ๊งค์ ลาออก 20 บริษัท ไม่เซ็นเอกสาร

23 ก.ย. 67

“เรืองไกร” ร้อง กกต.ตรวจสอบ “นายกฯอิ๊งค์” ลาออกจาก 20 บริษัท ไม่เซ็นเอกสาร ส่อขาดคุณสมบัติหรือไม่ เทียบชัดกรณี ”ซาบีดา“เซ็นเอกสารทุกแผ่น

วันนี้ (23ก.ย.67) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบการลาออกจากกรรมการบริษัท 20 แห่ง ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เทียบเคียงกับการลาออกจากบริษัทของน.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย

โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ระบุห้ามรัฐมนตรีรวมถึงนายกรัฐมนตรีถือหุ้นเกิน 5% หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด โดยการถือหุ้น 5% นั้นมีเงื่อนไขคือต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 หมายความว่าหากเกิน 5% และอยากจะถืออยู่ก็จะต้องไปแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องไปหาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เป็นคนจัดการ ซึ่งเรื่องนี้ในเว็บไซต์ของป.ป.ช.ก็มีรายละเอียดหลายราย เช่น กรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล

แต่กรณีนี้การลาออกจากกรรมการ และผู้ถือหุ้นของบริษัทท่าทรายหนองมะโมง จำกัด ของ น.ส.ซาบีดา นั้นจะเห็นว่า มีการเขียนคำขอและเซ็นเอกสารโดยน.ส.ซาบีดา และนายปภณ จบศรี และไปยื่นขอจดทะเบียน แบบ บอจ. 1 แต่ถ้าเทียบกับกรณีน.ส.แพทองธารไม่ได้เซ็นอะไรเลย ดังนั้นมีอะไร ถูกอะไรผิด ก็ต้องไปดู ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งสรุปว่า กรณีกรรมการออกต้องไปจดแจ้ง ส่วนกรรมการสามารถยื่นหนังสือลาออกตามกฎหมายที่นายทักษิณ ชินวัตร เคยแก้ไว้เมื่อปี 2549 โดยขั้นตอนการจดทะเบียนทำได้ 2 วิธี คือ แบบที่1 เมื่อกรรมการลาออกแล้ว บริษัทจะต้องประชุม 2 แบบแบบที่ 1 เรียกประชุมกรรมการบริษัท แบบที่ 2 เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งกรณีน.ส.ซาบีดาได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 2 ก.ย. 2567 จากนั้นวันที่ 3 ก.ย. 2567 ก็มาจด และเซ็นเอกสารแทบทุกหน้า ซึ่งเป็นไปตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สรุปมาจากประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์หมวดกรรมการซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 มาตรา

นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้นตนจึงมาร้องย้ำขอให้กกต.ย้อนตรวจสอบกรณีน.ส.แพทองธารว่า การยื่นลาออกจากกรรมการนั้น จดทะเบียนประชุมกรรมการบริษัท เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และขั้นตอนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ในท้ายของเอกสาร ข้อที่ 1 เขียนเอาไว้ชัด และเขียนคำเตือน ว่าผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 มาตรา 267 และ 268 ข้อ 2 นายทะเบียนอาจเพิกถอนการจดทะเบียน ถ้าปรากฏว่าข้อความอันเป็นสาระสำคัญที่ผู้จดทะเบียน ไม่ถูกต้องหรือเป็นเท็จ

“หมายความว่าถ้าการขอจดทะเบียนของน.ส.ซาบีดาถูกต้อง เทียบกับของน.ส.แพทองธารถูกหรือไม่ถูก กกต.ก็ต้องไปถามนายทะเบียนหุ้นส่วน ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องเพิกถอน และถ้าเพิกถอน วันนี้ความเป็นกรรมการก็ยังอยู่ใช่หรือไม่ ถ้าความเป็นกรรมการยังอยู่ทั้ง 20 บริษัท ก็จะเข้าขายเป็นลูกจ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 เพราะฉะนั้นอยู่ที่กกต.จะรีบตรวจสอบดำเนินการหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายกระบวนการยุติธรรมมีการกำหนดระยะเวลาอยู่ วันนี้ผมคิดว่าข้อมูลน่าจะเพียงพอที่ท่านจะรีบสรุป ท่านจะตั้งอนุกรรมการ หรือ กรรมการไต่สวนอะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำคือการถามไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามสำเนาที่ผมส่งไปก่อนหน้านี้ร้อยกว่าหน้า และของน.ส.ซาบีดา มายัน  ผมว่าของผมครบถ้วน จะตัดแต่งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ ท่านต้องยืนยันตรงนั้นและตรวจสอบต่อไป” นายเรืองไกร กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีมีการแก้ไขหลังจากนั้น นายเรืองไกร กล่าวว่า การแก้ไขหลังมีข่าว นั่นแสดงว่าตั้งแต่วันที่เป็นนายกฯ 16 ส.ค 2567 จนถึงวันที่แก้ไข ถือว่าเป็นกรรมการไปแล้ว จะทำอย่างไร เป็นวันเดียวก็ผิด ที่ผ่านมามีการประชุมผู้ถือหุ้นมีการประชุมกรรมการหรือไม่ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเก่งๆ ทั้งนั้นมีสส.เป็นร้อยคนจบกฎหมายก็เยอะ นอกจากอภิปรายอวยกันในสภาแล้วไปอ่านกฎหมาย ซึ่งตนพูดถึงเฉพาะหมวดกรรมการ ซึ่งหากกระบวนการจดแจ้งวันที่ 15 ส.ค.แล้วไปจดแจ้งวันที่ 19 ส.ค.ไม่ชอบด้วยขั้นตอนของกฎหมาย เขาถึงเขียนข้างล่างว่า ให้นายทะเบียนเพิกถอน  ซึ่งหากตรวจสอบแล้ว เท่ากับว่าตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.จนถึง 23 ก.ย. เป็นกรรมการอยู่ 20 บริษัท แล้วจะหลุดจากมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญ จะบอกว่าเป็นการยื่นเพิ่มเติมไม่ได้ เพราะการยื่นเพิ่มเติมหมายความว่าขาดตกบกพร่อง เช่นกรณีน.ส.ซาบีดา เซ็นเอกสารคู่กับนายปภณ แต่เซ็นอีกช่องหนึ่ง แบบนี้ถือเป็นกรณีผิดหลงได้ ไม่เป็นสาระไม่แก้ก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้มีหนังสือเชิญประชุม ไม่ได้ประชุมกรรมการและไม่ได้เซ็นเอกสาร ใน 20 บริษัทไม่มีลายเซ็นน.ส.แพทองธารเลย แต่น.ส.ซาบีดา เซ็นทุกหน้า ตรงนี้ต่างหากที่จะถามว่า ที่ถูกที่ผิดคืออะไร ไปแก้ไขให้ดี

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า  ตนมายื่นร้องเรียนตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมาตรา 41 และมาตรา 50 ไม่ได้ร้องเพราะปริมาณ ไม่ได้ร้องทุกวันไม่ได้ร้องเรื่องเล็กเรื่องน้อย แต่ร้องเรียนตามสิทธิ์และหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ จะผิดจะถูกอย่างไร ตนจะเคารพความเห็นขององค์กรอิสระ ของกกต. ของป.ป.ช. ของศาล จะไม่นำความเห็นของแต่ละคนที่ให้ตนร้องเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะคนเหล่านั้นถ้าเห่งก็ไปร้องเองตามสิทธิ์ ตนไม่ได้รับจ้าง ไม่ใช่ลูกไล่ที่จะมาบอกให้ตนไปร้องเรียน ถ้าทำเท่ากับว่าตนขาดอิสระ รับจ้างร้อง ดังนั้นคนที่ชอบพูดให้สำเนียกไว้ด้วยว่าใช้สิทธิ์ของตัวเอง ตนใช้สิทธิ์ของตัวเองไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส