ย้อนตำนาน เพลงลอยกระทง ใช้เวลาแต่ง 30 นาที ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เป็นที่นิยมเหนือกาลเวลา และเป็นเพลงไทยที่ดังที่สุดเพลงหนึ่งในประวัติศาสตร์
"วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริง วันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ"
เมื่อเพลงนี้ได้ถูกขับร้องขึ้นมา เชื่อว่าคนไทยแทบจะทุกคนไม่ว่าจะวัยไหนต่างก็ร้องตามได้ เพราะนอกจากจะมีท่วงทำนองติดหู ก็ยังมีเนื้อร้องที่ไพเราะ คล้องจองสละสลวย ร้องแล้วเห็นภาพตามจนจำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน วันลอยกระทง ที่ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็จะต้องได้ยิน ขึ้นทำเนียบเพลงที่คนไทยรู้จักกันดีที่สุดเพลงหนึ่ง
อาจารย์อติพร สุนทรสนาน ทายาทของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์ ผู้ประพันธ์เพลงนี้ เคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของเพลง "รำวงลอยกระทง" หรือที่ส่วนใหญ่เรียกกันว่า เพลง "ลอยกระทง" โดยเผยว่า ในช่วงบ่าย วันลอยกระทงปี พ.ศ.2492 คุณแม่ (อาภรณ์ กรรณสูต) ซึ่งเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ขอให้ครูเอื้อผู้เป็นสามีช่วยแต่งเพลงสำหรับงานลอยกระทงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ร่วมกับ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล บริเวณลานเฟื่องฟ้า ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครูเอื้อนั่งผิวปากเป็นทำนอง ส่วนครูแก้วก็ใส่เนื้อลงไป จนเพลงนี้แต่งเสร็จภายในเวลาครึ่งชั่วโมง แล้วถูกส่งต่อให้วงดนตรีได้ซักซ้อมเพื่อจะเล่นฉลองในตอนกลางคืน ก่อนจะถูกนำมาบันทึกเสียงครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2493 โดยมี วินัย จุลละบุษปะ นำหมู่นักร้องกรมโฆษณาการร่วมกันขับร้อง
ทั้งนี้ เพลงรำวงลอยกระทง หรือเพลงลอยกระทง ยังเป็น "เพลงสั้นที่สุด" ของวงสุนทราภรณ์ เป็นเพลงที่มี "ทำนองสั้นที่สุด" ของครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นเพลงที่มี "เนื้อร้องสั้นที่สุด" ของ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ซึ่งทุกวันนี้เพลงนี้ยังคงได้รับความนิยมแบบไม่เสื่อมคลาย กลายเป็นเพลงอมตะประจำวันลอยกระทงจนถึงปัจจุบัน