ชุมชนย่านเจริญกรุง จับมือเขตสาทร จัดงานยี่เป็งม่วนใจ๋ ลอยกระทงไทย-ล้านนา

6 พ.ย. 67

“ชุมชนย่านเจริญกรุง” จับมือเขตสาทร กรุงเทพมหานคร จัดยิ่งใหญ่ประเพณี “ยี่เป็งม่วนใจ๋ ลอยกระทงไทย-ล้านนา” ครั้งแรก มุ่งเป้าสร้างถนนสายวัฒนธรรมไทย-ล้านนา หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติร่วมงาน

สำนักงานเขตสาทร กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมชาวเหนือ องค์การสะพานปลา ภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการ และชุมชนย่านถนนเจริญกรุงและแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “ยี่เป็งม่วนใจ๋ ลอยกระทงไทย-ล้านนา” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในปี 2567 โดยรูปแบบการจัดงานจะเป็นการยกประเพณียี่เป็งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของล้านนาและประเพณีลอยกระทงแห่งเมืองสุโขทัย มาสู่ลำน้ำเจ้าพระยา สะท้อนความงดงามของคนในชาติที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลรวมมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาก่อให้เกิดอารยธรรมที่งดงามของสังคมไทย

การจัดงาน “ยี่เป็งม่วนใจ๋ ลอยกระทงไทย-ล้านนา” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2567 ณ ย่านถนนเจริญกรุง และริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานตากสินจนถึงถนนจันทร์ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยมีกำหนดเปิดงาน ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดสุทธิวราราม ถนนเจริญกรุง เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป

s__48963664

นายธวัชชัย แพงไทย ผู้อำนวยการเขตสาทรกล่าวว่า“เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในปี 2567 นี้ พสกนิกรชาวไทยและชุมชนย่านถนนเจริญกรุง-สาทร ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงได้แสดงออกถึงความรัก ความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมนำแนวพระราชดำริในการสืบสาน รักษา และต่อยอดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์วัฒนธรรม พลัง Soft Power ของสังคมไทยสู่ประชาคมโลก

แนวคิดในการจัดงานปีนี้จึงเป็นการนำประเพณียี่เป็งและลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีที่มีคุณค่าของล้านนาและสุโขทัย มาแสดงอย่างยิ่งใหญ่ในย่านเจริญกรุงและแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณวัดยานนาวา ท่าเรือสาทร และสะพานตากสิน ที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางของรถไฟฟ้า BTS และแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งบริเวณดังกล่าวยังถือเป็นย่านที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลลอยกระทงอีกด้วย ดังนั้น หากมีการจัดงานที่นำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของภูมิภาคต่างๆ มาร่วมแสดงหมุนเวียนกันไปจะเป็นการเติมเต็มให้ย่านนี้มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและย่านสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการประดับโคมแขวนล้านนา อันจะเป็นสีสันที่นำไปสู่การจัดแสดงโคมนานาชาติได้ในอนาคต”

s__48955400_0

นางจำปา แสนพรม ครูใหญ่โรงเรียนสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เคยไปเที่ยวชมประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ลำพูน และเทศกาลเผาเทียนเล่นไฟที่สุโขทัยล้วนเกิดความประทับใจในความงดงามของประเพณี แต่เชื่อว่ายังมีนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสความงดงามของประเพณีดังกล่าว ดังนั้นการนำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในประเพณียี่เป็งของล้านนาและประเพณีลอยกระทงแห่งเมืองสุโขทัยสู่ย่านสร้างสรรค์ในกรุงเทพมหานครอย่างย่านเจริญกรุง จะเป็นการแต่งแต้มสีสันให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานครได้อย่างงดงามเช่นกัน

นอกจากนี้ภายในงานดังกล่าว สมาคมชาวเหนือได้นำศิลปวัฒนธรรม อาหาร เครื่องแต่งกายชาวล้านนามาร่วมพิธีอันยิ่งใหญ่นี้ เพื่อสนองนโยบายของภาครัฐในการนำหลัก 5F หรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาเป็น Soft Power ของไทย ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่น (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fight) และเทศกาลประเพณียี่เป็ง-ลอยกระทง (Festival) จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกิจกรรมในปีนี้”

s__48955394_0

นางสุจันทร์ญา พาภัคพานิชย์กุล ประธานมูลนิธิวัดยานนาวา กล่าวว่า “ชาวชุมชนยานนาวาและในย่านเจริญกรุงมีความยินดีและพร้อมใจที่จะยกระดับงานชุมชนไปสู่สายตานักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะสีสันแห่งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในคืนวันลอยกระทง ที่มีความงดงามอย่างยิ่ง”

นางธัชพรรณ บริเพ็ชร รองประธานสภาวัฒนธรรมเขตสาทร กล่าวว่า ภายในงาน“ยี่เป็งม่วนใจ๋ ลอยกระทงไทย-ล้านนา” ที่กำลังจะจัดขึ้นนี้จะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา ชม ชิม ซ้อปอาหารเหนือแบบขันโตก ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากทุกภูมิภาค การบูชาประทีป โคมไฟ การเทศน์มหาชาติล้านนา และการละเล่นอื่นๆ แบบ “งานวัดอินเตอร์” หรือนานาชาติที่งดงาม เชื่อว่าบรรยากาศงานลอยกระทงที่ยิ่งใหญ่ ตระการตาด้วยการประดับโคมไฟที่งดงาม และแสงเทียนจากกระทงที่ลอยบนแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งนี้ จะเป็นงานที่สำคัญอีกงานหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

ขอเชิญทุกท่านร่วมเที่ยวชมและลอยกระทงในงาน “ยี่เป็งม่วนใจ๋ ลอยกระทงไทย-ล้านนา”ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2567 ณ ย่านถนนเจริญกรุง และริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานตากสินจนถึงถนนจันทร์ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยมีกำหนดเปิดงาน ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดสุทธิวราราม ถนนเจริญกรุง เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม