วันที่ 24 มี.ค. 63 กระทรวงสาธารณะสุข แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 106 ราย ยอดสะสม 827 ราย รักษาหายแล้วกลับบ้าน 5 ราย สะสม 57 ราย กำลังรักษาอยู่ 766 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย ยอดเสียชีวิตรวม 4 ราย บุคคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 4 ราย
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 25 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย สถานบันเทิง 6 ราย กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 12 ราย และกลุ่มผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 2 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 34 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ 20 ราย กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 10 ราย และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 4 ราย
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ แต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 47 ราย
สำหรับรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย รายแรก เป็นชายไทย อายุ 70 ปี (เป็นผู้ป่วยที่มีโรควัณโรคร่วม) รายที่ 2 เป็นชาวไทยอายุ 79 ปี (เป็นเซียนมวยอาการหนักตั้งแต่แรกรับ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 มีโรคประจำตัวหลายโรค) โดย 2 รายแรกรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร และรายที่ 3 เป็นชายไทย อายุ 45 ปี (มีโรคเบาหวาน และภาวะอ้วน) จากโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร
สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 4 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยสรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 57 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 766 ราย เสียชีวิต 4 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 827 ราย
ส่วนกรณี นายเอก (นามสมมติ) วัย 70 ปี พนักงานขับรถรับส่งทัววร์จีน ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 เป็นรายที่ 2 ของประเทศไทย หลังเข้ารักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร อยู่นาน 50 วัน โดยลูกสาวผู้เสียชีวิตโพสต์เฟสต์บุ๊ก ระบุว่า "พ่อจากไปแล้ว เมื่อ 18.10 น. ผลสืบเนื่องจากโควิด19 ที่ทำลายปอด เชื้อหายแต่อวัยวะไม่สามารถฟื้นกลับมา พ่อสู้ ไอโรคบ้านี้มาเกือบ 2 เดือน #ไม่ต้องห่วงลูกๆนะ รักที่สุด
นางกัญญาภัทร ตันแดง อายุ 50 ปี ภรรยาของผู้เสียชีวิต บอกว่า ย้อนกลับไปวันที่ 27 ม.ค. สามีเริ่มมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและเดินไม่ได้ หลังจากรับชาวจีนที่สนามบินและได้พาเที่ยวกทม.
จากนั้นในวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา จึงตัดสินใจพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน และกลับมารักษาตัวต่อที่บ้าน ต่อมาวันที่ 30 ม.ค. สามีเริ่มมีอาการอ่อนแรง จึงพาไปหาหมอคลินิกรับการฉีดยาวิตามิน ก่อนจะไปพักผ่อนที่บ้านซึ่งกินข้าวได้ตามปกติ
จากนั้นวันที่ 2 ก.พ.เริ่มมีอาการหายใจผิดปกติ จึงรีบพาส่งโรงพยาบาลเอกชนที่เดิม ตรวจพบปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง หมอต้องเจาะคอใส่เครื่องช่วยหายใจ ก่อนจะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลบำราศนราดูรกลางดึก เมื่อเข้าสู่วันที่ 17 มี.ค. อวัยวะภายในสามีเริ่มไม่ทำงาน แพทย์แจ้งให้ครอบครัวทำใจ กระทั้งวันที่ 23 มี.ค.ในที่สุดสามีก็เสียชีวิต
กระทั่งเมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางแพทย์ได้บอกว่า ผู้เสียชีวิตตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโควิด19 แต่เชื้อไวรัสได้เข้าไปทำลายอวัยวะภายในได้รับความเสียเสียหาย
หลังสามีเสียชีวิตญาติได้ติดต่อกับวัดย่านมีนบุรี เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา แต่พอทางวัดรู้ว่าเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสก็ปฏิเสธทันที โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถดำเนินการเผาศพได้ เพราะกลัวเชื้อจะแพร่ระบาดในพื้นที่ ยืนยันว่า สามีหายป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนจะเสียชีวิต
หลังจากนั้น ทางครอบครัวได้เดินทางไปติดต่อขอรับศพไปประกอบพิธีทางศาสนา ที่สถาบันบำราศนราดูร โดยเจ้าหน้าที่นิติเวช ยืนยันว่า สามารถทำได้ตามปกติ โดยศพจะไม่แพร่เชื้อต่อไปยังบุคคลอื่น เนื่องจากศพไม่ได้หายใจ หรือไอ จาม เพียงห่อถุงซิปล็อคให้ดี และห้ามแกะถุงจนกว่าจะเผาศพ เมื่อถูกความร้อนเชื้อจะถูกทำลายไปเอง
จากนั้น มีรายงานว่าครอบครัวผู้เสียชีวิตติดต่อวัดที่จะเผาศพได้แล้ว หลังจากที่มีบางวัดปฏิเสธไปก่อนหน้านี้
ต่อมา ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับศพไปประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดแห่งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ของวัดได้ช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำแผ่นไม้รองสำหรับเลื่อนโลงศพของผู้เสียชีวิตนำเข้าไปไว้ภายในเมรุเผา โดยศพถูกห่อด้วยถุงซีลล์ และบรรจุไว้ในโลงศพ
ทันทีที่รถตู้บรรทุกศพมาถึงได้ขับเวียนรอบเมรุ 3 รอบ ก่อนจะนำโลงศพเข้าสู่เตาเผาทันที หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและทำความสะอาดอีกครั้ง
ลูกชาย ของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า หลังจากที่พ่อเสียได้ประสานวัดไว้หลายที่แต่ไม่มีที่ไหนรับ จนกระทั่งมาได้วัดแห่งนี้ซึ่งสำนักงานเขตได้มาช่วยประสานให้ ยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 50 วัน ที่พ่อเข้ารับการรักษาเจ้าตัวสู้มาตลอด แม้จะไม่สามารถพูดคุยได้ เนื่องจากต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ก็มีการตอบสนองและได้รับกำลังใจ จากทางทีมแพทย์พยาบาลและคนใกล้ชิด ที่ส่งมาให้อย่างไม่ขาดสาย
ขณะที่ ลูกสาวของผู้เสียชีวิต ยอมรับว่า ครอบครัวสงสัยตลอดว่าพ่ออาจติดโรคโควิด เพียงแต่พ่อไม่มีอาการบ่งชี้ว่าเข้าข่าย รวมถึงตรวจกับโรงพยาบาลแล้วก็ไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากไม่มีไข้ และพ่อไม่ได้ระวังตัวเองในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ยังใช้ชีวิตปกติเหมือนทุกวัน เพราะคิดว่าร่างกายตัวเองแข็งแรงดี
ส่วนการติดเชื้อวัณโรค ตรวจพบพร้อมกับกับการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งอาจเป็นเชื้อที่แฝงอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่แสดงอาการ เมื่อร่างกายอ่อนแอจึงแทรกซ้อนขึ้นมา แต่ไม่ได้รุนแรง รักษาตัวอยู่เพียงไม่กี่วันเชื้อวัณโรคก็หาย ประกอบกับติดเชื้อโควิดด้วย ทำให้ปอดถูกทำลายจนเสียหายทั้ง 2 ข้าง
ทั้งนี้ อาทิตย์สุดท้ายก่อนพ่อจะเสียชีวิต ได้บอกลาพ่อตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว หลังแพทย์แจ้งว่าพ่อน่าจะอยู่ได้ไม่เกินสัปดาห์นี้ เนื่องจากความดันเริ่มตกลงเรื่อย ๆ
พระสมุห์อภินันท์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส บอกว่า สาเหตุที่รับศพของผู้เสียชีวิตรายนี้เอาไว้ เพราะเข้าใจและรู้สึกสงสารครอบครัว และผู้เสียชีวิต ที่ไม่มีวัดไหนรับเผาศพให้ อยากให้ลองคิดกลับกันถ้าคนตายเป็นญาติเรา แค่ตายก็เสียใจพอแล้วไม่ควรมาเจอเรื่องแบบนี้อีก
โดยทางได้นำศพไปไว้ที่เตาและปิดประตู เมื่อถึงวันฌาปนกิจแค่จุดไฟเผาทุกอย่างก็จบ ไม่มีการนำโลงศพออกมา ส่วนผู้มาร่วมงานศพ ทางวัดจัดเตรียมหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือเอาไว้ให้ ส่วนชาวบ้านที่อยู่รอบวัด ตอนนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งไม่อยากให้เกิดกระแสต่อต้าน