กรณีเฟซบุ๊ก “yossavadee hassadeevichit” เผยแพร่ภาพช้างที่มีลักษณะป่วย กำลังหิวโช และซูบผอม พร้อมเล่าเรื่องราวว่า “ขอความช่วยเหลือด่วน น้องช้างไม่มีอาหารแล้ว คนละนิดมาช่วยน้อง ๆ กัน ชื่อบัญชี มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม หมายเลขบัญชี 407 2 33888 5 ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนช้างคลาน เชียงใหม่ ขอความเมตตาคนละ 10 บาทก็ได้ค่ะ ช่วย ๆ กันแชร์นะคะ”
ล่าสุดวันที่ 6 เม.ย.63 ทีมข่าวเดินทางลงพื้นที่ไปยังศูนย์อนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม “Elephant Nature Park” ตั้งอยู่ใน ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์อภิบาลช้างป่วยเป็นกรณีพิเศษ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 300 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกแบ่งให้เป็นสัดส่วนของการเลี้ยงช้าง
น.ส.แสงเดือน ชัยเลิศ เจ้าของศูนย์อนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานมูลนิธิฯ พาทีมข่าวไปดูพื้นที่ต่าง ๆ ภายในศูนย์ ซึ่งพบว่าด้านหลังที่ติดกับลำน้ำ ถูกแบ่งโซนให้เป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงช้าง จำนวน 87 เชือก โดยช้างของศูนย์มีเพียง 84 เชือก ซึ่งเพิ่มมา 3 เชือก เนื่องจากควาญช้างในหมู่บ้านไม่สามารถเลี้ยงดูแลต่อได้ เพราะเจอกับสภาวะขาดแคลนอาหาร จึงได้นำมาฝากที่ศูนย์แห่งนี้ และภายในศูนย์ยังแบ่งแยกช้างออกเป็นโซน อาทิ โซนช้างเด็ก ช้างโต ข้างดุร้าย และช้างเจ็บป่วย (หลังหัก, เหยียบระเบิด, ตาบอด, ช้างแก่) โดยศูนย์แห่งนี้ส่วนใหญ่จะมีช้างที่เจ็บป่วยเกินกว่า 60% เพราะเป็นศูนย์อภิบาลดูแลช้าง
อีกทั้งทีมข่าวยังสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์ช้าง นำอาหารมาให้กับช้าง จำพวกต้นข้าวโพดที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว แต่ไม่มีฝักข้าวโพดติดอยู่ โดยเจ้าของศูนย์ บอกกับทีมข่าวว่า ช่วงนี้ชาวบ้านกำลังเก็บเกี่ยวข้าวโพด ทางศูนย์จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บลำต้นข้าวโพดในไร่ มาเป็นอาหารเลี้ยงช้าง เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์และชาวบ้านไม่สามารถที่จะเข้า-ออกหมู่บ้านได้ เนื่องสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ต้องปิดหมู่บ้าน แล้วผู้นำไม่อนุญาตให้ใครเข้า-ออก ดังนั้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถที่จะออกไปซื้ออาหารสำหรับช้างได้ รวมถึงจะสั่งจากข้างนอกให้เข้ามาส่ง ก็ติดปัญหาไม่สามารถเข้าในพื้นที่หมู่บ้านได้เช่นเดียวกัน
น.ส.แสงเดือน เจ้าของศูนย์ฯ ยังพาทีมข่าวไปยังจุดอื่นภายในศูนย์อนุรักษ์ช้าง โดยพบว่าศูนย์แห่งนี้ ไม่ใช่เพียงเป็นศูนย์อภิบาลช้าง แต่ในช่วงระยะ 1-2 ปี มีคนนำวัวควายจากโรงเชือด และการไถ่ชีวิตโคกระบือ จำนวนกว่า 250 ตัว สุนัข 700 ตัว แมว 800 ตัว และภายในศูนย์ยังต้องรับเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น เช่น หมูป่า 300 ตัว ลิง 200 ตัว กระต่าย 1,000 ตัว ซึ่งทั้งหมดคือภาระที่ศูนย์จะต้องดูแลให้ทุกชีวิตปลอดภัย ภายใต้การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เหลืออยู่ 150 คน จากเดิมช่วงภาวะปกติที่ไม่มีโรคโควิด-19 ระบาด จะมีเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์รวมกว่า 400 คน แต่ปัจจุบันมีมาตราการลดจำนวนคนเพื่อลดค่าใช้จ่าย นำเงินไปซื้อสัตว์กว่า 3,000 ชีวิต
สำหรับค่าใช้จ่ายเพียงแค่อาหารของช้าง จะเฉลี่ยตัวละ 1,000 บาทต่อวัน หากคูณด้วยจำนวนช้างภายในศูนย์ก็จะตกเป็นเงินกว่า 87,000 บาท และยังต้องแบ่งสัดส่วนไปซื้ออาหารให้กับสัตว์ชนิดอื่นวันละ 30,000-40,000 บาท รวมแล้วเฉลี่ยวันละ 100,000 กว่าบาm จากเดิมศูนย์แห่งนี้จะมีนักท่องเที่ยวไทยและเทศ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยวันละ 150,000-200,000 บาท แต่ขณะนี้รายได้ทั้งหมดเป็น 0 บาท เนื่องจากการประกาศปิดพื้นที่ ปิดหมู่บ้าน ดังนั้นส่งผลกระทบโดยตรงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารของช้างและสัตว์ชนิดอื่น
น.ส.แสงเดือน ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก ไม่สามารถกักตุนอาหารเอาไว้ได้ เพราะช้างจะต้องกินของสดใหม่ เก็บเกี่ยวแล้วทานได้เลย ไม่สามารถตุนเอาไว้ได้ ประกอบกับปัญหาการปิดหมู่บ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ไม่สามารถออกไปซื้ออาหารภายนอกเข้ามาให้ช้างหรือสัตว์ได้ แล้วที่สำคัญก็ไม่สามารถสั่งอาหารจากภายนอกเข้ามาได้อีกเช่นกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นยอมรับว่าเกิดสภาวะขาดแคลนอาหารให้กับสัตว์ภายในศูนย์ ขณะนี้จึงทำได้เพียงไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อหาวัตถุดิบ เช่น ต้นกล้วย อ้อย หรือพืชบางชนิดที่พอจะทดแทน ตัดมาให้ช้างกิน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีความเพียงพอหรือไม่ อีกทั้งศูนย์กำลังหาพื้นที่ว่างเปล่า ราคาปล่อยเช่าไม่แพง เพื่อจะไปซื้อเมล็ดพันธุ์หญ้ามาปลูก แล้วเก็บเกี่ยวเพื่อเลี้ยงช้าง วัว ควาย และสัตว์บางชนิดที่กินหญ้า ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีอาหารให้สัตว์เหล่านี้กินได้
จากเดิมภายในศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่รวมกว่า 400 คน รับค่าจ้างวันละ 300-400 บาท แต่ปัจจุบันยอมรับว่าหลายคนยอมตกงาน ช่วยงานที่ศูนย์โดยไม่รับเงินค่าจ้าง บางคนยอมรับเงินค่าจ้างวันละ 100 บาท ดังนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่ทำงานเพียงแค่ 150 คน ส่วนที่เหลือก็ต้องกลับบ้านไปดูแลครอบครัว ตอนนี้ต้องอาศัยเงินบริจาคที่หลายคนร่วมกันบริจาค โดยไม่รู้ว่าเงินที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับการซื้ออาหารหรือไม่ แต่ก็จะมีการจัดสรรให้เกิดความเพียงพอ สำหรับช่วงโควิด-19 และเชื่อว่าจะดูแลสำหรับอาหารช้างได้ในระยะ 1-2 เดือน