ครม.เห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท พยุงเศรษฐกิจไทยฝ่าไวรัสโควิด-19 คาดบังคับใช้ได้ในเดือนนี้ เริ่มกู้ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป อัดเงินช่วย “เราไม่ทิ้งกัน” เพิ่มอีก 3 เดือน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า วันนี้ (7 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 เฟสที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้เงินจากการกู้ยืมจำนวน 1 ล้านล้านบาท
โดยวันนี้ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท หลังจากนี้ก็จะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาและดำเนินการร่างระเบียบการใช้งบประมาณในทางปฏิบัติ ก่อนจะขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือนเมษายนนี้
จากนั้นกระทรวงการคลังจะเริ่มทยอยกู้เงินได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไปและต้องดำเนินการกู้ให้แล้วเสร็จภายในเดือน 30 กันยายน 2564 โดยส่วนใหญ่จะกู้เป็นเงินบาทและเปิดช่องให้กู้เงินตราต่างประเทศได้บางส่วน
สำหรับวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทจะนำมาใช้ใน 2 ส่วน คือ
1.แผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 6 แสนล้านบาท ได้แก่ เพิ่มการเยียวยาประชาชน ผู้ลงทะเบียนในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน หรือเพิ่มขึ้นจาก 15,000 บาทต่อคน เป็น 30,000 บาทต่อคน แต่ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยายังคงมีจำนวน 9 ล้านคนเท่าเดิม, เยียวยาเกษตรกร และดูแลสาธารณสุข
2.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้แก่ สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิชุมชน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ ยอมรับว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยในปีงบประมาณ 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 57% แต่ยังไม่เกินระดับที่เหมาะสม
1.พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยา และดูแลเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท
2.พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท
3.พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพการเงินวงเงิน 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ครม. ยังอนุมัติการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากเดิมได้รับเงิน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยขยายการเยียวยาเพิ่มอีก 3 เดือน ไปจนถึงเดือน ก.ย.63 นอกจากนี้ยังมีการดูแลภาคเกษตรฯ ซึ่งจะมีการประกาศมาตรการต่อไป รวมถึงภาคสาธารณสุขซึ่งรัฐบาลจัดงบประมาณไว้ 6 แสนล้านบาท ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จะมีวงเงิน 4 แสนล้านบาท