เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 13 เม.ย.63 นายกิติพัฒน์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ได้รับแจ้งว่า พบซากกวางป่าจำนวน 1 ตัว บริเวณปลักน้ำ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตหมู่ 24 ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ สั่งการให้ นายวีระเชษฐ์ ปุพพโก นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ และคณะ เข้าพื้นที่ไปตรวจสอบพิสูจน์ซากกวางป่าตัวดังกล่าว จากนั้นจึงรายงานต่อให้ นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
พร้อมกับเดินทางไปจุดเกิดเหตุ พบว่าเป็นซากกวางป่า เพศผู้ ตัวเต็มวัย น้ำหนักประมาณ 180 กิโลกรัม นอนตายบริเวณในปลักน้ำของคลองแม่เรวา ใกล้แปลงปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น อยู่กลางป่าลึก ห่างลึกเข้าไปจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประมาณ 10 กิโลเมตร มีร่องรอยบาดแผลเป็นรอยเขี้ยวบริเวณคอและบริเวณลำตัว และใกล้ๆ กันพบรอยตีนเสือโคร่งขนาดใหญ่หลายรอย
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าซากกวางป่าเริ่มอืดส่งกลิ่นและมีแมลงวันตอม พบรอยเขี้ยวของเสือโคร่งที่ตรงคอและลำตัวของกวางป่าอย่างชัดเจน พบว่าพื้นที่บริเวณนั้นแห้งแล้งมาก ในช่วงเส้นทางเดินทางเข้าจุดเกิดเหตุนั่งรถผ่านกว่า 10 กิโลเมตร ไม่พบแหล่งน้ำเลย คงมีจุดนี้จุดเดียวที่ยังมีน้ำขังเป็นปลักโคลนอยู่ คาดว่ากวางป่าคงจะลงมากินน้ำ แล้วโดนเสือโคร่งที่ซุ่มเงียบอยู่กระโจนเข้ามาล่าตอนที่กวางป่าไม่ทันระวังตัวขณะกำลังกิน กวางป่าดิ้นรนและขาดใจตายในเวลาไม่นานนัก หลังจากถูกเสือโคร่งกัดที่บริเวณลำคอ
ตรวจสอบกล้องดักถ่ายภาพในป่าที่ติดไว้ตามต้นไม้ ปรากฏว่าไม่เห็นภาพเสือโคร่ง อาจจะยังไม่กล้าเข้ามาหาเหยื่อที่ล่าไว้ เนื่องจากกลัวคน พบแต่รอยเท้าใหม่รอบๆ ซากกวางป่าหลายจุด อย่างไรหากถ่ายภาพได้จะได้ทราบว่าเป็นเสือโคร่งตัวใด มาจากแหล่งอาศัยถิ่นไหน เพราะขณะนี้ส่วนใหญ่แล้วเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ WWF มีฐานข้อมูลเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกอยู่ระดับหนึ่งแล้ว เจ้าหน้าที่ WWF แจ้งเหตุและปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อวิเคราะห์สาเหตุการตายของกวางป่า และแผนการที่จะร่วมกันเก็บข้อมูล และนำกล้องดักถ่าย camera taps จำนวน 3 กล้อง ไปติดตั้งไว้รอบซากกวางป่าเพื่อดักถ่ายต่อไป
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 พบซากกระทิงถูกเสือโคร่งล่า นอนตายอยู่บริเวณใกล้ร่องน้ำใกล้แคมป์แม่กระสา ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
นายธนิตย์ บอกว่า การที่พบเสือล่าเหยื่อในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ถึง 2 ครั้ง ในเวลาที่ไม่ห่างกันมากนักนั้น ถือได้ว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญในการจะใช้เป็นพื้นที่รองรับการกระจายของเสือโคร่ง จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเสือโคร่ง (tigersourcesite) ที่สำคัญของประเทศไทย ที่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณและสัตว์ป่าสูง ดังนั้นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมยิ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือโคร่งให้คงอยู่กับโลกตลอดไป