จากกรณี นางสุนันท์ จารุไพโรจน์ แม่นักเพาะกายหญิงทีมชาติไทย ร้องเรียนว่าถูกรีดเงิน 20,000,000 บาท จากนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีการนำคลิปเสียงระหว่างการพูดคุยเรื่องเงินออกมาเผยแพร่ ต่อมาเจ้าของเสียงในคลิป คือ นายจริญ เอี่ยมยัง ประธานสภาเทศบาลตำบลบางพลีน้อย ออกมาปฏิเสธ และอ้างว่าเคยได้ยินทางปั๊มแก๊สพูดเรื่องเงิน จึงได้โทรศัพท์ไปบอก นางสุนันท์ ซึ่งไม่คิดว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ล่าสุด วันนี้(5 ต.ค.60)
นายบุญช่วง สุ่มเหม ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลตำบลบางพลีน้อย เปิดเผยถึงข้อเท็จจริง กรณีถูกกล่าวหาว่า รับไม้ต่อจากช่างคนแรก ในการเรียกรับสินบนจำนวน 20,000,000 บาท โดย นายบุญช่วงชี้แจงว่า ตนไม่ได้รู้จัก นายกันตพัฒน์ หรือช่างคนแรกของ นางสุนันท์ ว่าเป็นลูกหลานใคร เพราะขณะนั้นยังไม่เข้ามารับตำแหน่ง ผอ.กองช่าง ซึ่งหลังจากเข้ามารับตำแหน่งนี้ ก็เกิดการฟ้องร้องเกิดขึ้นแล้ว เมื่อตรวจพบว่ามีการก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย
จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องในการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง จนถึงได้รับใบรับรองการก่อสร้างอาคารของ
นางสุนันท์ พบว่าทุกฉบับระบุจำนวนห้องไว้ว่ามีจำนวน79 ห้อง ซึ่งเอกสารเหล่านี้เจ้าของอาคารได้ลงลายมือชื่อกำกับเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และในการขออนุญาตก่อสร้าง (แบบ ข.1) ลงวันที่ 6 ก.พ. 50 หรือการขอสร้างอาคารครั้งแรก ระบุชื่อ นางสุนันท์ เป็นผู้ขออนุญาต ซึ่งการยื่นเอกสารดังกล่าว ต้องยื่นพร้อมกับแบบแปลนก่อสร้าง ดังนั้นนางสุนันท์ จะอ้างว่า ให้ช่างโยธาดำเนินการฝ่ายเดียวไม่ได้
นายบุญช่วง ยังกล่าวต่อว่า จากเอกสารทางราชการ แสดงให้เห็นว่า นางสุนันท์ มีเจตนากระทำผิดมาตั้งแต่แรก
ตามสัญญาจ้างที่ นางสุนันท์ กล่าวอ้างว่า ได้ทำสัญญากับช่างผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร จำนวน 95 ห้อง ผิดกับจำนวนที่ขอไว้กับทางเทศบาลฯ
ส่วนประเด็นที่ นางสุนันท์ กล่าวอ้างว่านายช่างโยธา ได้ไปตกลงคุยกับช่างรับเหมากันเอง โดยที่ตนไม่ทราบเรื่องนั้น นายบุญช่วง ระบุว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่ นางสุนันท์ จะไม่รู้เห็นเรื่องดังกล่าว
นายบุญช่วง ได้สรุปความผิดของการก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์ โดยเปิดเผยว่า นางสุนันท์ ได้รับอนุญาตให้สร้างอาคาร
สูง 5 ชั้น ใช้เพื่อเป็นอาคารพักอาศัยรวม จำนวน 79 ห้อง
โดยแบบที่ 1 เป็นพื้นชั้นล่าง ที่ระบุว่า มีเพียงแค่ 2 ห้อง ส่วนที่เหลือเป็นที่โล่ง แต่เมื่อก่อสร้างจริง ได้มีการกั้นห้องจำนวน 16 ห้อง จนเต็มพื้นที่ ทำให้อาคารนี้มีจำนวน 95 ห้อง ต่างจากที่ขออนุญาต
ส่วนแบบที่ 2 การก่อสร้างระเบียง ด้านหน้าอาคารตั้งแต่ ชั้น 2 ขึ้นไป ตามแบบจะไม่มีระเบียง แต่เมื่อลงมือก่อสร้างจริง อาคารหลังนี้กลับมีระเบียงทุกชั้น ซึ่งมีระเบียงด้านหน้าตั้งแต่ชั้นที่ 2 ไปจนถึงชั้นที่ 5 โดยผิดจากแบบแปลนของทางเทศบาลฯ
ส่วนแบบที่ 3 พื้นที่หลังคาเมทัลชีทที่คลุมดาดฟ้า ในแบบแปลน กำหนดไว้คลุมดาดฟ้า ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่บนชั้นดาดฟ้า แต่เมื่อก่อสร้างจริง หลังคากลับครอบคลุมเต็มพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์
ส่วนแบบที่ 4 ที่สร้างผิดจากแบบแปลนก็คือ รวมทั้งมีการยกหลังคาขึ้นไปเพื่อสร้างเป็น ชั้นที่ 6 โดยมีการสร้างห้องเก็บของไว้ชั้นที่ 6 อีก 1 ห้อง นับว่าเป็นการเพิ่มความสูงของอาคารขึ้นไป
ส่วนแบบที่ 5 เป็นการก่อสร้างบันไดผิดตำแหน่ง โดยมีการสร้างบันไดจริง แต่เป็นการสร้างผิดตำแหน่ง ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร
และแบบที่ 6 ตามแบบ ด้านหลังอาคารจะไม่มีหน้าต่าง แต่ก่อสร้างจริงมีหน้าต่างทุกชั้น ทุกหลัง ทั้งนี้ ในความเป็นจริง อาคารทุกหลังสามารถแก้ไขได้หมด แต่ต้องมีสถาปนิก วิศวกรออกแบบดัดแปลงแก้ไขอาคาร เพื่อประกอบการพิจารณา
ขณะที่
นายอารีย์ เจษฏจุฑารัตน์ ญาติเจ้าของปั๊มแก๊ส ในเขตเทศบาล ต.บางพลีน้อย จ.สมุทรปราการ ยืนยันว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2558 เป็นวันที่มีการประชุมเจรจาไกล่เกลี่ย และหลังจากที่ประชุม รู้สึกโมโหพอสมควร เพราะทางทหารทำหนังสือเชิญไปไกล่เกลี่ย แต่พอไปถึงกลับให้ยอมความ
สำหรับประเด็นแบบสร้างอาคาร ที่เป็นความลับ แต่บุคคลภายนอกรู้ได้อย่างไร หากไม่ได้ร่วมมือกัน เรื่องนี้ นายอารีย์ ชี้แจงว่า ตนมีความรู้เรื่องกฎหมายอาคาร และมีเพื่อนเป็นช่างสถาปนิกหลายคน เห็นอาคารของ นางสุนันท์ ครั้งแรกสงสัยว่า มีบางส่วนของตึกผิดกฎหมาย จึงทำเรื่องขอเทศบาลฯ ตรวจสอบ ยังไม่ได้ระบุว่ามีความผิดอย่างไรบ้าง
หลังจากนั้นผ่านไป 2-3 เดือน ทางเทศบาลฯ เหมือนไม่ได้ติดตามเรื่องที่ตนร้องเรียน กลับเงียบหายไป จึงตัดสินใจไปขอดูเอกสาร ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารปี พ.ศ.2540 ซึ่งประชาชนสามารถร้องขอดูเอกสารใดก็ได้ แม้แต่งบประมาณของเทศบาลฯ ก็สามารถขอดูได้ จึงทำให้ตนเอง ได้เห็นแบบแปลนของอพาร์ทเม้นท์ นางสุนันท์ ส่วนแบบแปลนของปั๊มแก๊ส ทางด้าน นางสุนันท์ ก็ทราบ และมีอยู่ในมือเช่นกัน
นายอารีย์ บอกว่า ตนไม่ได้ร้องเรียนเฉพาะเทศบาล แต่ร้องเรียนถึง 24 หน่วยงาน เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะคิดว่า นางสุนันท์ น่าจะมีอิทธิพลพอสมควรในพื้นที่ เนื่องจาก นางสุนันท์ เคยให้ปากคำกับทางศาล ว่าทั้งเขา และสามี เป็นคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานสถานีตำรวจภูธรบางพลีน้อย โดยตนเองยังสงสัยว่า เป็นได้อย่างไร เนื่องจากระเบียบของข้าราชการตำรวจ จะต้องเลือกชุมชนละ 1 คน เพื่อเข้าไปตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ซึ่งที่บ้านของ นางสุนันท์ กลับมีผู้ที่เป็นคณะกรรมการถึง 2 คน
ภายหลังจากตนได้ไปเขียนคำร้อง ขอดูเอกสารกับทางเทศบาลฯ จึงพบการกระทำความผิดของ นางสุนันท์ เช่น
สร้างห้องเกิน จากจำนวนที่ขอไว้ 79 ห้อง สร้างจริงจำนวน 95 ห้อง รวมทั้งตามแบบระบุว่าอาคารดังกล่าวมี 5 ชั้น แต่พบว่าอาคารสร้างถึง 6 ชั้น รวมได้ตรวจสอบการเสียภาษีของ นางสุนันท์ พบว่า เสียภาษีเพียงแค่ 79 ห้องเท่านั้น ไม่ได้เสียตามจำนวนห้องที่ก่อสร้างจริง
อย่างไรก็ตาม นายอารีย์ ยืนยันว่าไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับทางเทศบาลฯ ที่ผ่านมาตนก็เคยร้องเรียนเทศบาล ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเอื้อประโยชน์ให้ นางสุนันท์ โดยนายอารีย์ ยังกล่าวอีกว่า "ผมไม่ได้กลั่นแกล้ง ไม่ได้ร่วมมือกับใคร แต่ทั้งหมดเพราะผมเดือดร้อนเป็น สิบๆล้าน ใครเห็นใจผมบ้าง"
ทั้งนี้ นายอารีย์ ยังเปิดเผยสาเหตุที่มีคนนำเรื่อง 20,000,000 บาท ไปบอกกับ นางสุนันท์ ว่าขณะที่เจ้าหน้าที่นัดไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับ นางสุนันท์ แต่วันนั้นตกลงกันไม่ได้ ตนจึงเดินลงจากบันได โดยมีคนสนิทของ นางสุนันท์ เดินอยู่ด้านหน้า จึงพูดลอยๆ ออกไป
"ผมก็รู้ว่า ท่านประธานสภา แกคอยช่วยเหลือ คุณสุนันท์ อยู่ตลอด ผมก็เลยพูดเล่นๆ ไปว่า มาครั้งนี้ มันน่าจะมีค่าเหนื่อยมาบ้าง ค่าเสียหายเราบ้างนะ ซัก 10,000,000 - 20,000,000 บาท ถ้าเรียกมาอย่างนี้ คร่าวหลัง ไม่ต้องเรียกมาอีกนะ ผมก็พูดอย่างนี้ คือสิ่งที่พูด เราพูดของเราลอยๆ ออกไป คือพูดไป คือมันมีความหมั่นไส้สูง เพราะไม่เคยมีหน่วยงานใดมาช่วยตอนปั๊มถูกร้องเรียน ก็มีแต่คนมากดดันสั่งปิด สั่งปรับ แต่เมื่อถึงคราว นางสุนันท์ กลับเรียกประชุมไกล่เกลี่ย ไม่รู้กี่ครั้ง ไม่รู้มีบารมีอะไร"