วันนี้ (2 พ.ค.) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผนแพร่ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เหลียวหลังแลหน้าขจัดโควิด-19 ระบุ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ร่วมกับ ดร.พนม สีหาบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เหลียวหลังแลหน้าขจัดโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่ และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,126 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
เมื่อเหลียวหลังดูช่วงโควิดเริ่มระบาดจนถึงวันนี้ผลประเมิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในด้านต่าง ๆ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความตั้งใจทุ่มเททำงานแก้ปัญหาได้ 8.24 คะแนน รองลงมาคือ เกาะติดใส่ใจแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ได้ 7.85 คะแนน อย่างไรก็ตาม ด้านอื่น ๆ ได้คะแนนสอบผ่านแบบเฉียดฉิวและคาบเส้น ได้แก่ มาตรการต่าง ๆ ขณะแก้ปัญหา ได้ 5.29 คะแนน การเยียวยาฟื้นฟูได้ 5.02 คะแนน และการเตรียมการรับมือปัญหาได้ 5.01 คะแนน
ที่น่าพิจารณาคือ สิ่งที่คนไทยทำร่วมขจัดปัญหาโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.8 ระบุ ประชาชนทำตามมาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ได้ดี รองลงมาคือ ร้อยละ 75.0 ระบุประชาชนหัวใจคุณธรรมช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกันเอง ร้อยละ 69.4 ระบุ คนไทยตื่นตัว ตระหนัก ป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อตามจุดต่าง ๆ ร้อยละ 65.6 ระบุ คนไทยเชื่อฟัง และทำตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล และท้ายสุดคือร้อยละ 53.9 ระบุ รัฐบาลจัดการได้ดี
ดร.พนม สีหาบุตร ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ กล่าวว่า เมื่อแลไปข้างหน้าในการแก้ปัญหาโควิด-19 ร่วมกัน ทุกฝ่ายควรถือเป็นโอกาสสร้างอุตสาหกรรมใหม่เศรษฐกิจสีเขียวลดมลภาวะ ใช้พลังงานสะอาดให้ประชาชนได้เข้าถึงมากขึ้น เลิกพิสูจน์และวัดค่าของประชาชนด้วยความยากจนแต่ให้คุณค่าของประชาชนอยู่ที่ “ความเป็นคนไทยที่เสมอภาค” ไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเท่าเทียม และรัฐบาลควรกำหนดกรอบเวลาให้กระชับอย่าให้สงครามโควิด-19 ยืดเยื้อ สื่อสารขอความร่วมมือจากประชาชนให้มีประสิทธิภาพ ลดความสับสนในข้อมูลให้เหลือน้อยที่สุดเร่ง จบปัญหาโควิดในช่วงหน้าร้อนนี้ ลดโอกาสแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนให้ได้โดยปรับกลยุทธ์และแผนปฏิบัติทั้งระดับบริหารและปฏิบัติการในพื้นที่ ยึดความเป็นจริงและฟังเสียงของประชาชนเป็นหลัก