จากกรณีที่นางทองสา ดาหา อายุ 64 ปี เดินทางไปที่กระทรวงการคลัง ร้องเรียนไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เมื่อวานนี้ (5 พ.ค. 63) โดยอ้างว่ากำลังจะอดตาย ข้าวสารก็ใกล้หมด เงินก็ไม่มี ของก็ขายไม่ได้
อ่านเพิ่มเติม : ต้องดิ้นรน! ป้าหลั่งน้ำตาตื่นตี 4 เดินเรื่องรับ 5 พัน - ช่างเย็บผ้าไร้เงินซื้อข้าวเลี้ยงดูลูกเบาหวาน
ล่าสุด วันที่ 6 พ.ค. 63 ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่อยู่ตามบัตรประชาชนของนางทองสา ต.ทรายทอง อ.ทรายทองวัฒนา จ.กำแพงเพชร พบบ้านพักหลังใหญ่ถูกปิดเงียบ ไม่มีใครอาศัยอยู่ พบญาติที่อยู่บ้านใกล้เคียง
จากการตรวจสอบ นางสุภาภรณ์ จุลละสุภา คลังจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า นางทองสา ได้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทจริง แต่ได้มีการกดยกเลิกเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยา และอาจไม่ทราบข้อมูลว่ามีการทวนสิทธิ์การเยียวยารอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา
โดยทางคลังจังหวัดกำแพงเพชร นายอำเภอทรายทองวัฒนา และผู้ใหญ่บ้านได้โทรศัพท์พูดคุยกับนางทอง และอธิบายขั้นตอนการรับเงินเยียวยาแล้ว
นางกนกพร แก้วมณี อายุ 52 ปี น้องสาวของนางทองสา เล่าว่า ตนเห็นข่าวก็ตกใจมากที่พี่สาวของตนเองออกไปร้องเรียนขอรับสิทธิ์เยียวยา ตนยังโทรคุยกันอยู่ว่าทำไมไม่ไปแบบธรรมดา ทั้งนี้ ตนขอโทษเจ้าหน้าที่ ที่พี่สาวของตนเองพูดจาไม่ดี ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องลงพื้นที่และเดือดร้อนกันใหญ่
ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางพบป้าทองสาที่บ้านพักย่านอรุณอมรินทร์ ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ใกล้สะพานพระราม 8 กรุงเทพฯ พบว่าบ้านพักเป็นบ้านเช่าห้องแถว 2 ชั้น ป้าทองสากำลังเลี้ยงหลานชายวัย 4 ขวบ กับหลานสาววัย 6 เดือนอยู่
นางทองสา ดาหา ผู้เรียกร้องสิทธิ์เงินเยียวยา เปิดใจว่า ตนทราบแล้วว่ามีคนตามไปดูบ้านของตนตามที่อยู่ จ.กำแพงเพชร บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านของลูกสาวคนโต ที่สร้างเอาไว้ แต่ไม่มีคนอยู่ เพราะทุกคนอยู่ที่กรุงเทพฯ ตนเองก็รู้สึกเสียใจที่มีคนตามไปบ้านลูกสาว แล้วมีการนำรูปไปเผยแพร่ จนทำให้มีคนเข้าใจตนผิดหาว่าไม่ลำบากจริง ขอยืนยันว่าตนบริสุทธิ์ใจ และลำบากจริง แทบไม่มีเงินจะกิน ส่วนสามีก็ลงทะเบียนแล้วขึ้นสถานะเป็นเกษตรกร จึงไม่ได้รับเงินเช่นกัน ตนจึงตัดสินใจเดินทางไปร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง
ส่วนประเด็นที่มีคนคิดว่าตนเคลื่อนไหวทางการเมือง ยืนยันว่าตนเองไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ สมัครใจไปเพราะอดอยากจริง ๆ ไม่มีใครหนุนหลัง มีเงินติดตัวไปแค่ 250 บาท นั่งวินขาไป 150 บาท เหลือเงิน 100 บาท เกือบจะกลับบ้านไม่ได้ เพราะเงินไม่พอ โชคดีที่ยังมีวินรถจักรยานยนต์ใจดีคิด 100 บาทมาส่งถึงบ้าน สุดท้ายจึงอยากวอนขอให้ท่านนายกฯ ช่วยเหลือด้วย
นอกจากนี้ ป้าทองสา ระบุว่า ตนเองมีลูก 4 คน ประกอบด้วย 1. พัด อายุ 45 ปี (ลูกสาวคนโต) อยู่บ้านย่านอรุณอมรินทร์, 2. ต้อย อายุ 38 ปี (ลูกชายคนที่ 2) อยู่บ้านย่านลาดกระบัง, 3. อึ่ง อายุ 35 ปี (ลูกชายคนที่ 3) อยู่บ้านย่านอรุณอมรินทร์, 4. ริน อายุ 20 ปี (ลูกสาวคนเล็ก) อยู่บ้านย่านอรุณอมรินทร์
โดยส่วนใหญ่ลูกของป้าทองสามีครอบครัวแล้ว มีเพียงลูกสาวคนเล็กที่ยังเรียนอยู่ และกำลังอยู่ในช่วงฝึกงาน โดยจะอยู่รวมกันแทบทั้งหมด มีเพียงนายต้อย ลูกคนที่ 2 ที่ออกไปอยู่กินกับแฟนสาวย่านลาดกระบัง ซึ่งบ้านพักที่อยู่ปัจจุบันเป็นบ้านเช่า ค่าเช่าเดือนละ 5,500 บาท และอยู่ด้วยกันรวม 10 ชีวิต ได้แก่ 1. ป้าทองสา, 2. ลุงวิน อายุ 62 ปี (สามี), 3. พัด อายุ 45 ปี (ลูกสาวคนโต), 4. หลานสาว อายุ 14 ปี (ลูกสาวของพัด), 5. หลานชาย อายุ 11 ปี (ลูกของต้อย), 6. อึ่ง อายุ 35 ปี (ลูกชายคนที่ 3), 7. แฟนของอึ่ง, 8. หลานชาย อายุ 4 ขวบ (ลูกของอึ่ง), 9. หลานสาว อายุ 6 เดือน (ลูกของอึ่ง), 10. ริน อายุ 20 ปี (ลูกสาวคนเล็ก)
สำหรับรายรับ-รายจ่าย มีรายได้หลักมาจากการการขายลูกชิ้นทอดของสามี เฉลี่ยวันละ 300 บาท, นางพัด ลูกสาวคนโต ส่งให้เดือนละ 1,000 บาท, นายต้อย ลูกชายคนที่ 2 ส่งเงินให้เดือนละ 2,000 บาท แต่ปัจจุบันกำลังตกงานอยู่
ส่วนรายจ่ายหลักของป้าทองสา คือค่าอาหาร เฉลี่ยวันละ 300 บาท เลี้ยงทั้งครอบครัว ค่าเช่าบ้านเดือนละ 5,500 บาท และค่าน้ำ ค่าไฟ เฉลี่ยเดือนละ 2,000 บาท รวมทั้งเดือนก็ประมาณ 16,500 บาท โดยหลังจากที่มีข่าวออกไปก็ทำให้มีผู้ใจบุญนำข้าวสารอาหารแห้ง พร้อมเงินสด 5,000 บาท มามอบให้ถึงที่บ้าน ตนก็รู้สึกดีใจที่จะไม่อดตายแล้ว
ด้านนายต้อย (นามสมมติ) ลูกชายของนางทองสา เปิดใจว่า ตนเองและพี่น้องทุกคนรู้ว่าแม่จะไปร้องเรียนเรื่องที่ไม่รับเงินเยียวยาที่กระทรวงการคลัง ซึ่งตนเองกับพี่น้องก็ได้ห้ามปรามแล้ว แต่แม่เป็นคนรั้น ไม่ฟังใคร และยืนยันว่าจะต้องไปรับสิทธิเงินเยียวยาให้ได้ ซึ่งตอนนี้ทั้งบ้านมีแค่แม่กับพี่สาวคนโต ที่ยังไม่ได้รับสิทธิได้เงินเยียวยา เนื่องจากระบบแจ้งว่าเลขที่บัญชีไม่ถูกต้อง ส่วนตนเอง พ่อ และน้องชาย ได้รับเงินเยียวยาไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เอามาช่วยกันจุนเจือดูแลพ่อแม่และครอบครัวของแต่ละคน
แต่ช่วงนี้ไม่มีคนมาจ้างตนเองไปทำงาน จึงขาดรายได้ ตนเองก็พยายามบอกให้แม่เข้าใจแล้ว แต่แม่ก็ยังคิดมาก และไม่ค่อยพอใจที่ตนเองส่งเงินมาให้น้อยลง ซึ่งตนเองยอมรับว่าตนเองก็มีภาระ แต่แม่ก็ยังมีพี่สาวกับน้องชายคอยดูแล ไม่ได้กินดีอยู่ดี แค่พอประทังครอบครัวให้อยู่รอดได้ ทั้งนี้ อยากให้สังคมมองว่าแม่ไม่ได้เรียกร้องหรือสร้างกระแสให้สังคมสงสาร เพียงแต่แม่แค่ออกมาเรียกร้องสิทธิเรื่องเงินเยียวยาที่ควรจะได้ก็เท่านั้น