วันนี้ (8 พ.ค.) รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมคณะผู้บริหารออกมาชี้แจง กรณีมีการติดแฮชแท็กในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ #แฉเกษตรมข ระบุว่ามีการรับน้องด้วยการฆ่าสุนัข แล้วนำเนื้อมาให้รุ่นน้องรับประทาน ร่วมถึงยังรับน้องด้วยระบบโซตัส จนกลายเป็นกระแสวิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ยืนยันว่า การรับน้องของคณะเป็นอย่างรูปแบบสร้างสรรค์ ไม่กระทบกับการเรียนของนักศึกษา มีแค่กิจกรรมเชียร์ของน้องใหม่แต่อาจจะมีการลักลอบทำกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือระบบของทางมหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งในส่วนนี้ทางคณะและมหาวิทยาลัยไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่ยืนยันว่าระบบโซตัส ไม่มีอยู่ในกิจกรรมรับน้องในปัจจุบัน เพราะทางคณะมีการกำกับดูแลไม่ให้มีการใช้อำนาจหรือกดขี่รุ่นน้องแต่ส่งเสริมให้รุ่นพี่และรุ่นน้องรักใคร่และเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน
ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวหาว่าคณะมีการรับน้องด้วยการกินเนื้อสุนัข ยอมรับว่าเป็นตำนานที่เอาไว้ใช้หลอกรุ่นน้อง แต่ข้อเท็จจริงไม่มีการกินเนื้อสุนัขแต่อย่างใด แต่เป็นเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ทางรุ่นพี่ทำเป็นเนื้อทอดและข้าวเหนียวเป็นห่อมาให้รุ่นน้องรับประทานและหลอกว่าเป็นเนื้อสุนัข จนกลายเป็นเรื่องเล่าต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชาวทวิตภพสาปส่ง! แห่ติดแฮชแท็ก #กะเทยตีหมา ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ไทย
- ไฟลุกทวิตเตอร์! แฮชแท็ก #นัทนิสา ถล่มเน็ตไอดอลดัง แกงถุง 250 -เหยียดคนจน
นักศึกษาคนหนึ่ง เปิดเผยว่า การกินเนื้อสุนัขนั้นไม่มีอยู่จริงเป็นแค่เนื้อหมูและเนื้อไก่ที่รุ่นพี่ทำมาให้รับประทานเท่านั้นแต่มีการหยอกรุ่นน้องว่าเป็นเนื้อสุนัข ส่วนการรับน้องแบบโซตัสยอมรับว่ามีบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รุ่นพี่พยามที่จะสอนรุ่นน้องให้สามารถทำงานอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ได้ แต่โดยส่วนตัวก็ไม่ชอบระบบนี้
ขณะที่นักศึกษาอีกคนในคณะเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่า การรับน้องที่คณะไม่มีการให้กินเนื้อสุนัข แต่เป็นเมนูอาหารที่ทำมาจากเนื้อหมูหรือเนื้อไก่เท่านั้น และคนประกอบอาหารก็เป็นนักศึกษาในคณะโดยจะเลือกทำเมนูอาหารที่มีราคาประหยัดและรับประทานง่าย แต่ที่บอกว่าเป็นเนื้อสุนัขเป็นแค่เรื่องที่รุ่นพี่ใช้หลอกรุ่นน้องเพื่อทดสอบสภาพจิตใจว่าจะทนต่อแรงกดดันได้หรือไม่เท่านั้น และไม่มีการรับน้องระบบโซตัส แต่เป็นรูปแบบการเข้าเชียร์ของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาของคณะทุกชั้นปีมีส่วนร่วมกับกิจกรรม จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีรุ่นพี่มาบังคับรุ่นน้องให้ทำกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือจากทางที่มหาวิทยาลัยกำหนด