แพทย์ จุฬาฯ เผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจโรคโควิด-19 ชี้ไม่มีวิธีใดหรือแบบใด ยืนยันผลได้ 100% ในการตรวจแต่ละครั้ง แม้กระทั่งวิธี กักตัว 14 วัน แล้วค่อยตรวจหาเชื้อก็ตาม
11 มิ.ย.63 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิด-19
ข้อความว่า
1.แยงจมูกเป็น “การหาเชื้อ” โดยการจะพบเชื้อ ขึ้นกับว่ามีเชื้อขณะที่ตรวจในตำแหน่งนั้น ในปริมาณที่สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธี พีซีอาร์ แบบที่ใช้หรือไม่? และขี้นกับกระบวนการเก็บ ระยะเวลาของโรค และความรุนแรงของโรคในขณะนั้นๆ
2.การตรวจเลือดเป็น "การหาหลักฐานการติดเชื้อ" โดยตรวจแอนติบอดี หรือหาภูมิ เป็นการบอกว่า เพิ่งติดเชื้อเมื่อเร็ว ๆ นี้ 4-6 วันมาแล้ว (IgM) หรือติดเชื้อมาตั้งแต่ 12 ถึง 14 วันมาแล้ว (IgG) (อาจนานมาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) และขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการตรวจว่ามีมาตรฐานหรือไม่
3.การตรวจเลือดเมื่อได้ผลบวกไม่จำเป็นต้องพบเชื้อในเวลาเดียวกันเสมอไป (ไวรัสยังไม่มาให้ตรวจพบ ตรวจเชื้อไม่เจอ แม้มีเชื้อจริง หรือไวรัสหมดไปแล้ว)
4.การตรวจทั้งสองแบบต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์และความรวดเร็ว สะดวกและประหยัด โดยต้องทราบข้อจำกัดของการตรวจแต่ละอย่าง
5.ถ้าไม่พบเชื้อไม่ได้บอกว่าไม่มีเชื้อ ถ้าตรวจเลือดไม่พบ ไม่ได้บอกว่าไม่มีการติดเชื้อ ทั้งนี้ อาจตรวจเร็วเกินไป เป็นเพราะเทคนิค (เช่นมีปัจจัยรบกวนผล) และเป็นเหตุผลที่ต้องมีการตรวจซ้ำ
6.ไม่มีวิธีใดแบบใดที่วิเศษ รับรองผล 100% ในการตรวจแต่ละครั้ง แม้กระทั่งการกักตัว 14 วัน การติดเชื้อที่ไม่มีอาการยังสามารถหลุดรอดไปได้
ดังนั้น การกักตัว ร่วมกับการตรวจแต่ละแบบ เป็น "การย้ำ" ให้มีความแม่นยำสูงสุด และลดภาระในการกักตัวไม่ต้องยาวนานมาก ประเมินความเสี่ยง และทราบสถานภาพของการควบคุมโรคในขณะนั้น ในพื้นที่ว่าดีพอหรือไม่
Advertisement