“คดีมหากาพย์สร้างแพะช่วยแกะ” ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษา "ครูจอมทรัพย์" คุก 2 ปี 8 เดือน "ครูอ๋อง" เพื่อนซี้เจอ 1 ปี 3 เดือน
เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลจังหวัดนครพนมออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีดำที่ อ.295/61 คดีแดงที่ 812/62 มีพนักงานอัยการจังหวัดนครพนมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยจำนวน 8 คน ในข้อหาร่วมกันสร้างหลักฐานเท็จต่อเจ้าพนักงานฯ ประกอบด้วย
1.นางจอมทรัพย์ ศรีบุญหอม หรือ แสนเมืองโคตร
2.นายสุริยา นวนเจริญ หรือ ครูอ๋อง
3.นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์
4.นางรจนา จันทรัตน์
5.นายเสน่ห์ สุพรรณ
6.น.ส.วาสนา เพ็ชรทอง
7.นายนิรันดร์ แสนเมืองโคตร
8.นางทองเรศ วงศ์ศรีชา
โดยก่อนที่ทั้งหมดจะขึ้นไปฟังคำพิพากษานางจอมทรัพย์มาพร้อมกับบุตรชายและญาตินั่งกันอยู่ที่โรงอาหารด้านหลังศาล ซึ่งนายประทีป นวลเศรษฐ ทนายความของนางจอมทรัพย์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่ายังพอมีความหวังว่าศาลจะเมตตา ขณะที่นางจอมทรัพย์ไม่ขอพูดอะไรทั้งสิ้น จากนั้นก็เดินทางเข้าประตูด้านหลังขึ้นไปยังชั้น 2 ของศาลจังหวัดนครพนม
ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ประมาณ 1 ชั่วโมง วินิจฉัยพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำคุก
จำเลยที่ 1 คือนางจอมทรัพย์เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน
จำเลยที่ 2 นายสุริยาหรือครูอ๋อง เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน
จำเลยที่ 3 นางทัศนีย์ 2 ปี
จำเลยที่ 7 นายนิรันดร์ 1 เดือน 10 วัน
จำเลยที่ 8 นางทองเรศ 1 ปี 6 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 4, 5, 6 ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง
คดีมหากาพย์ดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีนางจอมทรัพย์ ตกเป็นจำเลยในข้อหาขับรถยนต์ชนนายเหลือ พอบำรุง เสียชีวิตเมื่อปี 2548 พื้นที่ สภ.นาโดน ต.สร้างเม็ก อ.เรณูนคร จ.นครพนม ต่อสู้กันถึง 3 ศาล และเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ศาลฎีกาพิพากษาตัดสินจำคุก 3 ปี 2 เดือน แต่นางจอมทรัพย์จำคุกแค่ 1 ปี 6 เดือน ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำกลางนครพนม เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 หลังพ้นโทษได้ร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้กระทรวงยุติธรรมช่วยรื้อฟื้นคดีใหม่โดยอ้างว่าตนเองตกเป็นแพะ
วันที่ 9 มกราคม 2560 พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดยุติธรรม พร้อมด้วยนายนิธิต ภูริคุปต์ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้เข้าไปช่วยเหลือครูจอมทรัพย์ในการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้รื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยนางจอมทรัพย์ยืนยันว่าขณะเกิดเหตุตนอยู่กับครอบครัวที่บ้านซึ่งอยู่ที่จังหวัดสกลนคร
ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ตามที่นางครูจอมทรัพย์ร้องขอ เนื่องจากเห็นว่าคำร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ เนื่องจากนางจอมทรัพย์อ้างว่ามีหลักฐานกรณีนายสับวาปียื่นคำร้องขอชำระเงินแทนนางจอมทรัพย์ในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นางจอมทรัพย์ชำระเงิน 170,000 บาทให้กับบุตรของผู้ตาย และนายสับวาปียังให้ข้อเท็จจริงกับนางจอมทรัพย์ว่าตัวเองเป็นคนขับรถชนผู้ตายและได้หลบหนี แต่ต่อมาทราบข่าวว่านางจอมทรัพย์ถูกจำคุกทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำจึงสำนึกผิด
กระทั่งศาลจังหวัดนครพนมนัดสืบพยานตามที่นางจอมทรัพย์ร้องขอใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญา ขึ้นมาพิจารณาใหม่ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2560 โดยอ้างชื่อนายสับวาปีที่ออกมายอมรับว่าเป็นคนขับรถชนคนตายตัวจริง ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับรื้อฟื้นคดีดังกล่าวซึ่งนายสับวาปีจึงมีความสำคัญต่อคดีนี้เป็นอย่างมาก เพราะนั่นเท่ากับว่านางจอมทรัพย์ไม่ได้ขับรถชนคนตายทำให้ตำรวจตกเป็นจำเลยของสังคมในทันที
และหากนางจอมทรัพย์สามารถรื้อฟื้นคดีได้สำเร็จก็สามารถลบล้างมลทินได้ทั้งหมดที่เคยรับโทษมาก่อนหน้านี้ และสามารถกลับเข้าไปรับราชการได้เหมือนเดิม หากเกษียณก็จะได้รับบำนาญตลอดชีวิต นอกจากนี้จะได้รับค่าเยียวยาจากการถูกคุมขังวันละ 500 บาทซึ่งถูกติดคุก 1 ปี 6 เดือนเป็นเวลา 545 วัน คิดเป็นเงินจำนวน 272,500 บาท ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฉบับใหม่ และยังมีสิทธิที่จะขอค่าเยียวยาจากกระทรวงศึกษาธิการได้ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำ รวมทั้งยังสามารถฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งทำให้ตนเองขาดประโยชน์ในการประกอบอาชีพอีกด้วย
ต่อมา พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง พนักงานสอบสวน สภ.เรณูนคร เจ้าของคดี (สภ.นาโดนท้องที่เกิดเหตุในขณะนั้นไม่มีอำนาจการสอบสวน) ออกมายืนยันว่า พยานหลักฐานที่รวบรวมไว้เชื่อมโยงได้ทุกขั้นตอนไม่มีเลศนัยไม่ได้เรียกร้องรับผลประโยชน์ใดๆ จากผู้ใดทั้งสิ้น ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ด้าน พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ (ในขณะนั้น) ยืนยันว่านางจอมทรัพย์ขอรื้อคดีพบสิ่งผิดปกติหลายอย่าง และมีขบวนการรับจ้างรับติดคุกโดยมีผู้ร่วมขบวนการประมาณ 6 คน เป็นข้าราชการอดีตข้าราชการและพลเรือนแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อหาประโยชน์จากเงินเยียวยาและมีพยานสำคัญที่ตำรวจได้สอบปากคำคืออดีต ส.ว.มุกดาหาร ที่เคยได้รับการติดต่อว่าจ้างให้ทำหน้าที่ทนายความคดีนี้และยังพบว่าขบวนการนี้เริ่มเคลื่อนไหวหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องนางจอมทรัพย์ คล้ายกับเห็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์และการสืบสวนยังพบอีกว่าขบวนการนี้ทำมาแล้วหลายครั้งในพื้นที่ภาคอีสานมีทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จส่วน ในความเคลื่อนไหวของนางจอมทรัพย์มีการรับและจ่ายเงินให้คนในขบวนการบางส่วนแล้ว
กระทั่งวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ศาลฎีกาได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณายกคำร้องของนางจอมทรัพย์ หลังพยานหลักฐานต่างๆ ไม่น่าเชื่อถือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งความดำเนินต่อขบวนการจ้างแพะช่วยแกะ เริ่มจากนายสับวาปีเข้ามอบตัวพร้อมเปิดปากรับสารภาพว่าไม่ได้ขับรถชนคนตายตามที่ให้การต่อตำรวจในตอนต้น แต่มีนายสุริยาหรือ ครูอ๋อง มาติดต่อและรับปากจะให้เงิน 4 แสนบาท แลกกับการรับผิดแทนแต่ยังไม่มีการจ่ายเงินกัน
และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ศาลจังหวัดนครพนมได้อนุมัติหมายจับนางจอมทรัพย์และพวก ในคดีซ่องโจรและให้การเท็จต่อศาล หลังศาลออกหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมครูจอมทรัพย์ในบ้านพักเขตอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร พร้อมฝากขังศาลจังหวัดนครพนมโดยไม่อนุญาตให้ประกันตัว ขณะที่นายสุริยาหรือครูอ๋องเผ่นหนีออกจากบ้าน (ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมียครูอ๋องท้าทายเจ้าหน้าที่ตำรวจเว่าถ้าสามีตัวเองผิดจริงทำไมไม่มาจับเพราะขณะนั้นหมายจับยังไม่ออก) ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ที่สถานีรถไฟหลักสี่ กทม. ส่วนจำเลยรายอื่นๆ ถูกดำเนินคดีตามที่หลักฐานพยานโยงไปถึง
โดยวันที่ 6 มีนาคม 2562 ศาลจังหวัดนครพนมได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 1.นางจอมทรัพย์ ศรีบุญหอม หรือแสนเมืองโคตร เป็นเวลา 8 ปีในข้อหาสร้างหลักฐานเท็จ 2.นายสุริยา นวนเจริญ หรือ ครูอ๋อง เพื่อนสนิท ถูกตัดสินเป็นเวลา 7 ปี 9 เดือน 3.นายนิรันดร์ แสนเมืองโคตร อดีตสามีนางจอมทรัพย์ คุก 2เดือน ด้วยข้อหาเดียวกันส่วนคนอื่นๆ 4.นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ จำคุก 2 ปี 19 เดือน และ6.นางทองเรศ วงศ์ศรีชา จำคุก 2 ปี 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 6-8 คือนายเสน่ห์ สุพรรณ นางรจนา จันทรัตน์ และน.ส.วาสนา เพ็ชรทอง ศาลได้พิพากษายกฟ้อง