จากกรณี บรรดาผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของอังกฤษ เก็บผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าว เช่น กะทิ น้ำมัน แป้งและอื่น ๆ ที่ผลิตในประเทศไทยออกจากชั้นวางสินค้า หลังสื่อท้องถิ่นอย่าง นสพ.Telegraph ตีพิมพ์รายงานจาก PETA ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับนานาชาติ ที่เผยให้เห็นการใช้ลิงกังเป็นแรงงานเก็บมะพร้าว ถึงกว่า 1,000 ลูกต่อวัน โดยลิงกังในไทยถูกปฏิบัติไม่ต่างจากเครื่องจักรเก็บมะพร้าว และเรียกร้องให้คนดีไม่สนับสนุนการใช้แรงงานลิงด้วยการไม่ซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย นั้น
วันที่ 6 ก.ค.63 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งปลูกมะพร้าวที่มีชื่อเสียงคุณภาพดี และเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย โดยพื้นที่การปลูกมะพร้าว อ.ทับสะแก อยู่ที่ประมาณ 90,000 ไร่ การเก็บมะพร้าวในพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว แต่ใช้แรงงานคน โดยใช้ไม้สอยหากใช้ลิงกังจะต้องเป็นมะพร้าวต้นสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมะพร้าวส่วนใหญ่มีความสูงตั้งแต่ 12-20 เมตร ซึ่งสามารถใช้ไม้สอยได้ ใช้แรงงานคนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนลิงกังมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเจ้าของมีการดูแลเป็นอย่างดีให้กินอาหารเหมือน อย่างเช่น ไข่ลวก นม และพักผ่อนตามเวลา เวลาลิงกังขึ้นมะพร้าวหากเหนื่อยก็จะหยุดไม่เก็บมะพร้าว ส่วนต้นทุนการซื้อลิงกังตกตัวละ 35,000 บาท
ส่วนข้อมูลจากต่างประเทศใช้ลิงกังเก็บผลผลิตมะพร้าววันละ 1 พันลูก เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะมะพร้าวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นมะพร้าวที่บริโภคในประเทศ มีเพียงบางส่วนที่ส่งเข้าโรงงานแปรรูป เพื่อนำไปทำกะทิกล่องส่งออก โดยกะทิส่งออกส่วนใหญ่ใช้มะพร้าวนำเข้าเป็นหลัก
นายพนมกร เลาลัคนาเลิศ ชาวสวนมะพร้าว ต.เขาล้าน บอกว่า ปัจจุบันตนเองเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรมะพร้าวแปลงใหญ่ ตำบลเขาล้าน ซึ่งที่สวนของตนใช้ไม้สอยเป็นหลัก มีต้นทุนค่าใช้จ่ายลูกละ 2 บาท ส่วนลิงกังลูกละ 3 บาท ซึ่งแพงกว่าและเก็บได้น้อยกว่าแต่ละวันลิงกังมีความสามารถเก็บได้ 200-300 ลูก ส่วนคนสอยสามารถเก็บได้ตามความต้องการวันละ 500-600 ลูก และมีความรวดเร็วไวกว่าลิงกัง เพราะการสอยจะตัดครั้งละหลายลูก แต่ลิงกังจะเก็บทีละลูก สิ่งที่ปรากฎเป็นข่าวจึงคลาดเคลื่อนจากความจริง
สำหรับพื้นที่ปลูกมะพร้าวจ.ประจวบคีรีขันธ์ มีทั้งหมด 352,471 ไร่ สามารถเก็บผลผลิต 313,018 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 327,492 ตัน ต่อปี