กพท.ออกประกาศ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ-เที่ยวบินพิเศษ ขนผู้โดยสารผ่านไทยต้องมีใบรับรองผลตรวจโควิด-19 ก่อนซื้อตั๋วโดยสาร หลังจีนสั่งแบน 2 สายการบินของไทย ห้ามเข้าประเทศ นำผู้โดยสารติดโควิด-19 เข้าประเทศ
วันนี้ (16 ก.ค.) นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) เปิดเผยว่า กพท. เตรียมออกประกาศ เกี่ยวกับแนวปฏิบัติของสายการบินระหว่างประเทศ โดยในเนื้อหาของประกาศ กพท. ฉบับใหม่ จะเพิ่มข้อกำหนดกรณีที่สายการบินของประเทศไทย และสายการบินที่ทำการบินผ่านประเทศไทยลงจอดเติมน้ำมันหรือแวะพัก แม้ผู้โดยสารจะไม่ได้ออกมานอกเครื่อง แต่สายการบินจะต้องกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนที่โดยสารมาในเครื่องบินลำดังกล่าว จะต้องมีใบรับรองผลการตรวจปลอดเชื้อโรคโควิด-19 ทุกคน ก่อนที่จะซื้อตั๋วโดยสารมากับเครื่องได้
ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันสายการบินที่มีสัญชาติไทย และทำการบินแบบเช่าเหมาลำ(ชาร์ทเตอร์ไฟลต์) ทำการบินจากประเทศที่ 1 ไปยังประเทศจุดหมายปลายทาง หรืออาจจะแวะมาจอดเติมน้ำมันที่ประเทศไทย ไปยังจุดหมายปลายทาง และเมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ทางปลายทางกลับตรวจพบว่ามีผู้โดยสารในลำนั้นๆ มีเชื้อโควิด-19 สายการบินดังกล่าวจะถูกขึ้นบัญชีดำทันที
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จีนสั่งแบน 2 สายการบินไทย ปมขนผู้โดยสารติดโควิด
- เปิดเงื่อนไข! หลัง กพท.ประกาศคลายล็อกน่านฟ้า อนุญาตเข้า-ออกไทย 1 ก.ค. นี้
นายจุฬา กล่าวอีกว่า กรณีนี้มีตัวอย่างมาแล้ว จากกรณีที่สำนักงานบริหารการบินพลเรือนแห่งชาติของจีน (ซีเอเอซี) ได้ระงับการทำการบินของ สายการบิน ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เส้นทางบินจาก มาเลเซีย-มะนิลา-ไทย-เทียนจิน และ สายการบิน ไทยไลอ้อนแอร์ เส้นทางจาการ์ตา-ดอนเมือง-กวางโจว รับผู้โดยสารคนจีน จากประเทศอินโดนีเซีย ไปกวางโจว ประเทศจีน โดยทั้ง 2 สายการบินทำการบินแบบเช่าเหมา
จากกรณีที่ปลายทางเป็นประเทศจีน มีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารก่อนลงเครื่อง และพบผู้โดยสารมีเชื้อโควิดนั้น ทางระเบียบข้อบังคับของจีน ได้กำหนดว่า หาก เครื่องบิน 1 ลำ ตรวจผู้โดยสารพบมีติดเชื้อโควิด ต่ำกว่า 10 คน สายการบินนั้นจะถูกระงับการบินเข้าประเทศทันที 1 สัปดาห์ แต่หากในเครื่อง 1 ลำ ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดมากกว่า 10 คน จะถูกระงับการทำการบินเข้าประเทศทันที 4 สัปดาห์ ซึ่งการที่สายการบินใด ๆ ที่ทำการบินระหว่างประเทศช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสายการบินที่ถูกเช่าเหมาลำให้ไปรับคนในประเทศนั้น กลับมายังประเทศตัวเอง และเครื่องบินดังกล่าวมีสิทธิ์ในการทำเส้นทางบินนั้น ๆ อยู่ก่อนแล้ว จึงจะสามารถทำการบินได้