ผลตรวจ "หมึกแห้ง" พบแคดเมียมเกินเกณฑ์ 7 จาก 13 ตัวอย่าง

1 ส.ค. 63

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบ "ปลาหมึกแห้ง" ไม่พบเชื้อรา สารเคมีกลุ่มไพรีทอยด์ และการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทเกินมาตรญาน แต่พบ "แคดเมียม" เกิน 7 จาก 13 ตัวอย่าง 

วานนี้ (31 ก.ค.) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบ การสุ่มเก็บตัวอย่างปลาหมึกแห้ง จำนวน 13 ตัวอย่าง จากตลาดสด ร้านค้า และห้างออนไลน์ เมื่อเดือน ก.พ.- มี.ค. 2563 ส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ ปริมาณโซเดียม และโลหะหนัก (ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม)

ผลการตรวจวิเคราะห์ ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin และ การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (Pesticides Pyrethroid)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
เตือนผักสดปนเปื้อน "พยาธิ" พบมากสุดในขึ้นฉ่ายฝรั่ง แนะล้างให้สะอาดก่อนกิน 

ส่วนผลทดสอบการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอท ในปลาหมึกแห้งที่นำมาทดสอบนั้น ทุกตัวอย่างไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นผลทดสอบแคดเมียม พบว่า ปลาหมึกแห้ง จำนวน 7 ตัวอย่างที่ส่งตรวจมีการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด สอดคล้องกับมาตรฐานโคเด็ก (Codex) ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ต่อ อาหาร 1 กิโลกรัม

ทั้งนี้ผลทดสอบค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากหมึกแห้ง 13 ตัวอย่าง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1,097.27 มิลลิกรัม / 100 กรัม (1 ขีด) สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทย ตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป (Thai RDI) แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 mg โซเดียมที่เราจะได้รับในแต่ละวันขึ้นอยู่กับอาหารที่เรารับประทาน โดยอาหารจานเดียวที่เรารับประทานมีโซเดียมตั้งแต่ ประมาณ 360 – 1,600 mg ดังนั้น การรับประทานที่เหมาะสม ควรจะคำนึงถึงปริมาณโซเดียมที่จะได้รับจากปลาหมึกแห้งข้างต้น ( 200 mg/20 g ) ร่วมกับปริมาณโซเดียมในอาหารอื่นที่เรารับประทานร่วมด้วยในแต่ละวันด้วย

อย่างไรก็ตาม อาหารทะเล เช่น หมึกแห้ง ไม่อาจเลี่ยงการพบโลหะหนักปนเปื้อน เนื่องจากเป็นการตกค้างจากสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ยากต่อการจัดการ ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ ก็คือ การเลือกบริโภคหมึกแห้งอย่างพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้โลหะหนักสะสมในร่างกาย

ทั้งนี้ หากร่างกายได้รับแคดเมียมในปริมาณมาก จะส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ไตและตับถูกทําลาย ส่วนการได้รับแคดเมียมปริมาณน้อย ๆ เป็นเวลานาน จะเป็นพิษต่อไตและกระดูก

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ