“แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะสามารถรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามในจุดแข็ง ก็ยังมีมิติที่เราสามารถทำให้ดีกว่าเดิมได้ ดังนั้น นอกจากการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าแล้ว เราต้องเดินหน้าทบทวน พัฒนา และประเมินศักยภาพระบบ กลไกของเครือข่ายการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือจัดการภาวะคุกคามและภัยสุขภาพได้อย่างทันการณ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด”
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค หนึ่งในผู้วางยุทธศาสตร์สำคัญในการรับมือกับการระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้กล่าวถึงจุดประสงค์หลักในการจัดการประชุมหารือการพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อสนับสนุนพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินและระบบบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อทบทวนการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (Emergency Operations Centre, EOC) ในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นำทีมบุคลากรด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศร่วมหารือแนวทางการพัฒนาและยกระดับการจัดการระบบข้อมูล ผ่านกระบวนการ “Design Thinking” หรือ “การคิดเชิงออกแบบ” เพื่อทบทวนการดำเนินงานตลอดจนแสวงหาโอกาสในการพัฒนาระบบข้อมูล ที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำด้วยระบบที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การร่วมถอดบทเรียนและทบทวนระบบแผนดำเนินการในครั้งนี้ มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาและยกระดับการจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค
โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้สนับสนุนทีมวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญส่วนงานเทคโนโลยีและสารสนเทศเข้ามาร่วมหาแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศ ด้วยกระบวนการ Design Thinking เพราะเราได้เล็งเห็นร่วมกันว่า นอกจากเรื่องของกำลังคน และระบบการทำงานที่ดีแล้ว การจัดการระบบข้อมูลที่มีแบบแผนและมีประสิทธิภาพนั้น จะทำให้เราติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้ดี แต่ละฝ่ายมีความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันตรงกัน ทั้งยังช่วยให้สามารถพยากรณ์สถานการณ์ข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ มีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจจัดการเหตุการณ์ กำหนดมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ ระบบข้อมูลที่ดี ช่วยเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตทั้งโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนยินดียิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภารกิจป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาเราได้ สนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป
เราจึงมุ่งเน้นฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเสริมศักยภาพการรับมือกับวิกฤตในอนาคต เมื่อได้ทราบถึงความตั้งใจของกรมควบคุมโรคในการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินและระบบบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเชฟรอนเองมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมถึงด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งสามารถเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ได้ จึงได้ส่งทีมงานเข้ามาเป็นวิทยากรเพื่อร่วมหาแนวทางในการพัฒนาระบบข้อมูลร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน โดยหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้การปฏิบัติภารกิจของกรมควบคุมโรคเป็นไปด้วยดี และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”
นายเชน โสภิตวิริยาภรณ์ หัวหน้าส่วนการจำลองและวิเคราะห์ข้อมูล แผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิทยากรของงานเวิร์คช็อปครั้งนี้ กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนของทีมวิทยากรจากเชฟรอน พวกเรารู้สึกดีใจและยินดีอย่างมากที่ได้มีส่วนในการเข้ามาสนับสนุนภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยเราได้นำแนวทางการทำงานตามกระบวนการ Design Thinking หรือ การคิดเชิงออกแบบ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เชฟรอนนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานภายในเช่นเดียวกัน
โดย Design Thinking เป็นกระบวนการที่เหมาะสำหรับการนำมาปรับใช้ในการทำงานร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย เพื่อสร้างระบบงานที่เป็นแบบแผนเดียวกัน ซึ่งกระบวนนี้ให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหา แทนที่วิธีการแบบเดิมที่มักเริ่มต้นจาก ‘ปัญหา’ โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน เพื่อระบุปัญหา จากนั้นจึงระดมความคิดเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นโดยไม่มีการจำกัดกรอบความคิด จนนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้ต่อไป ซึ่งก็หวังว่าแนวทางที่ร่วมกันแบ่งปันในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรคไม่มากก็น้อย”
แม้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทยในขณะนี้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เริ่มมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว มีการผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าไปได้ แต่ทุกคน ทุกภาคส่วนยังคงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ตามวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ปฏิบัติตามมาตรการการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (social distancing) ควรล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการเอามือมาจับต้องบริเวณใบหน้า และติดตามข้อมูล สถานการณ์และปฏิบัติตามคำแนะนำ จากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2