สายด่วน 1663 เผยคนท้องไม่พร้อมสูงขึ้นเนื่องจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐ แนะบริการสาธารณสุขควรจัดระบบปรึกษาออนไลน์และส่งยา เอื้อกรณีไม่สามารถเดินทางไปรับบริการยุติตั้งครรภ์ได้
นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 และโครงการพัฒนาประสิทธิภาพระบบรับเรื่องร้องเรียนฯ ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดและรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาด เช่น การจำกัดการเดินทาง การกักตัว ทำให้ผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปรับบริการได้
หน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่ 144 แห่งทั่วประเทศ หยุดให้บริการไป 62 แห่ง ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมจำนวนมากเดินทางลำบาก เพราะขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ และแต่ละจังหวัดก็มีมาตรการคัดกรอง กักตัวผู้ที่มาจากต่างพื้นที่ ทำให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งจำใจต้องตั้งครรภ์ต่อบนความไม่พร้อม และอีกจำนวนหนึ่งตัดสินใจสั่งยาทำแท้งทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย
สายด่วน 1663 จึงมีข้อเสนอต่อรัฐเกี่ยวกับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ กรณีเกิดสถานการณ์โรคระบาด ดังนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคหรือความจำเป็นใดๆ ก็แล้วแต่ รัฐต้องเพิ่มบริการการเข้าถึงการคุมกำเนิดและการป้องกันโรค เช่น การสำรวจและแจกอุปกรณ์คุมกำเนิดให้กับทุกครอบครัว กระทรวงสาธารณสุขต้องขยายหน่วยบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในทุกจังหวัด พัฒนาระบบเพื่อเพิ่มทางเลือกให้คนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้ เช่น การส่งยาทางไปรษณีย์ หรือเทเลเมด (telemedicine-การให้บริการผ่านระบบเวชกรรม) ทั้งบริการยุติการตั้งครรภ์และการคุมกำเนิด
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการให้บริการปรึกษาของสายด่วนฯ 1663 ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงในประเทศไทย เทียบกับช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระยะแรกของการระบาด พบว่า มีผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมเพราะความยากจนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.3 และต้องการให้ส่งต่อเพื่อเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ในหน่วยบริการของรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากสถานการณ์ปกติ และเมื่อนำข้อมูลการให้บริการสายด่วน 1663 ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 พบว่า มีผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม 565 รายที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกักตัวและการลดการเดินทางของรัฐทำให้ยากต่อการเดินทางไปรับบริการยุติการตั้งครรภ์ และมี 79 รายที่จำเป็นต้องท้องต่อ เพราะไม่สามารถเดินทางไปยุติการตั้งครรภ์ได้