เมื่อวันที่ 14 ส.ค.63 เวลา 17.00 น. ที่ใต้ตึกอาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มนิสิตภายใต้ชื่อ "Spring movement" และคณะจุฬา ร่วมกันจัดงานแฟลชม็อบภายใต้ชื่อ "เสาหลักจะหักเผด็จการ" โดยกิจกรรมมีการปราศรัยเนื้อหากล่าวถึงสิทธิเสรีภาพในการเเสดงออกทางความคิด การคุกคามประชาชนจากเจ้าหน้าที่รัฐ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นปัญหาการบริหารงานของคณะผู้บริหารของจุฬาฯ ปัญหาสังคม และปัญหาภายในประเทศ
ตัวแทนจากคณะจุฬา พูดถึงเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรม แต่ทางมหาวิทยาลัยตอบกลับมาว่าไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งทางตัวแทนได้ถามกลับไปว่า เหตุที่นิสิตนักศึกษาต้องออกมาชุมนุมก็เป็นเพราะการเมืองทั้งสิ้นใช่หรือไม่
โดยบางช่วงบางตอนมีการพูดถึงภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่ควรเป็นตลาดวิชาของประชาชน ทำให้สังคมดีขึ้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับถูกปิดกั้น ยับยั้งไม่ให้มีการแสดงออก ซึ่งวิชาการต้องเชื่อมโยงกับสังคม ไม่เช่นนั้นไม่อาจเป็นวิชาการได้
กระทั่งเวลา 18.00 น. มีการชู 3 นิ้ว ร้องเพลงชาติร่วมกัน พร้อมพูดพร้อมกันว่า "หยุดคุกคามประชาชน" และเปิดแฟลชสีชมพูจากโทรศัพท์มือถือเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ตัวแทนจากนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ถือป้ายข้อความ "นิเทศศาสตร์ขอทวงคืนจรรยาบรรณสื่อ"
ส่วนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีกิจกรรมการชุมนุมของนักศึกษาเดิมที่จะจัดขึ้นที่ลานพ่อขุนฯ ในเวลา 16.00 น. แต่ฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ต้องเลื่อนการชุมนุมออกไปเป็นเวลา 18.00 น. ที่ใต้ตึกศิลาบาตร ถูกจัดขึ้นโดยเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้ชื่อ "รามคำแหงจะไม่ทน"
ทั้งนี้ มีนักศึกษากว่า 200-300 คน เดินทางเข้าร่วมการชุมนุมปราศัยอย่างต่อเนื่องด้วยความสงบเรียบร้อย ลักษณะการปราศัยเป็นการเล่นดนตรีขับกล่อม สลับกับการขึ้นปราศัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล พร้อมแสดงจุดยืน เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ประกอบด้วย
1. แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
2. หยุดคุกคามประชาชน
3. ไม่เอารัฐประหาร
4. ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ
5. ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
6. ส.ว.ต้องไม่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
7. เรียกร้องให้ยุบสภา
8. นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง
9. องค์กรอิสระต้องมาจากประชาชน
10. รัฐบาลต้องมีคำตอบเรื่องการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากบางแห่งเว้นว่างจากการเลือกตั้ง รวมถึงการแทรกแซงการเลือกตั้งท้องถิ่น
ขณะที่ไอลอว์ หรือโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนด้วย ได้มาตั้งจุดให้ประชาชนเข้าชื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 50,000 รายชื่อ นักศึกษา ม.รามคำแหงกว่า 300 คน เข้าร่วมกิจกรรม "รามคำแหงจะไม่ทน" ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล 10 ข้อ โดยเหตุการณ์สงบและไร้ความรุนแรง
ด้านกลุ่มศิลปิน ดารา นักแสดง บุคคลในวงการบันเทิงโพสต์ข้อความทั้งการสนับสนุนรัฐบาล และสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และแสดงจุดยืนทางการเมือง
ซึ่งกลายเป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแสดงจุดยืนทางการเมืองของเหล่าศิลปินดารา
โดยกลุ่มดาราที่โพสต์สนับสนุนแนวคิดกลุ่มนักศึกษา เช่น แอมมี่ ไชยอมร, เก้า สุภัสสรา, ก็อต อิทธิพัทธ์, เจเจ กฤษณภูมิ, ทราย อินทิรา เจริญปุระ, ปิงปอง ศิรศักดิ์, มารีญา พูลเลิศลาภ, จอห์น วิญญู, แสตมป์ อภิวัชร์, เติร์ด ลภัส, ต้อม ยุทธเลิศ และย้ง ทรงยศ ผู้กำกับซีรีส์ชื่อดัง
ส่วนดารากลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดของรัฐบาล เช่น อุ๊ หฤทัย, โจ นูโว และหมอก้อง สรวิชญ์
อีกหนึ่งนักร้องหนุ่มที่อุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจน แอมมี่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ นักร้องนำวง The Bottom Blues ที่ก่อนหน้าที่ได้เข้าร่วมกับนักศึกษา และแสดงจุดยืนและเรียกร้องประชาธิปไตย แสดงความคิดเห็นโดยไม่หวั่นผลกระทบเรื่องงาน พร้อมโพสต์ล่าสุด "เรียนผู้จัด การยกเลิกคอนเสิร์ตของข้าพเจ้าสามารถกระทำการยกเลิกได้ทันที หากอุดมการณ์ของข้าพเจ้าขัดแย้ง หรือ ส่งผลร้ายต่อสวัสดิภาพของตัวงาน โดยข้าพเจ้ายินดีคืนเงินมัดจำทั้งหมด เต็มจำนวน"
แอมมี่ ไชยอมร เปิดเผยว่า ตนไม่ได้เพิ่งออกมาแสดงจุดยืน แต่ตนไปร่วมชุมนุมกับน้อง ๆ มาแล้วด้วย การเรียกร้องครั้งนี้ถูกเรียกร้องด้วยพลังงานบริสุทธิ์ คิดว่ากลุ่มคนที่มีต้นทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา สามารถแสดงจุดยืนของตัวเองได้ "เราชัดเจน เราคิดว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด สำคัญกว่าเรื่องส่วนตัวเรา สำคัญกว่าหน้าที่การงาน มันกำหนดอนาคตของประเทศได้" หากถามว่ากลัวหรือไม่ที่จะไม่มีใครกล้าจ้างงานเรา ขอตอบว่าไม่กลัว เพราะคิดดีแล้ว และอยากทำเพื่ออนาคตให้กับลูกสาวมีประเทศชาติที่ดีอยู่สักที
ด้านทราย เจริญปุระ นักแสดงผู้สนับสนุนกลุ่มนักศึกษา เปิดใจว่า ตนเชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นหรือการพูดในเรื่องการเมืองทุกคนมีสิทธิ ไม่ว่าจะแสดงออกเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ตอนนี้คนในวงการบันเทิงเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องของการเมืองเยอะขึ้น สถานการณ์วันนี้แม้ทางจุฬาลงกรณ์ไม่ให้ใช้พื้นที่ในการชุมนุม หากฝ่าฝืนมีการลงโทษวินัย ตนมองว่าโรงเรียนควรเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก ควรเป็นที่ที่เขาอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย อยู่แล้วไม่ต้องระแวงว่าจะมีใครมาทำอะไร และเป็นที่ที่ให้ความรู้ ไม่ใช่แค่ในตำราเรียนอย่างเดียว
ทั้งนี้ วันที่ 16 ส.ค. 63 ม็อบเยาวชนมีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตนก็มีการจัดรถบริการสุขาเคลื่อนที่ให้น้อง ๆ ม็อบเยาวชนด้วย ห่วงเรื่องการเข้าห้องน้ำ และน้ำ ขนม เจลแอลกอฮอล์ หรือหน้ากากอนามัย ก็เป็นผู้รับประสานไปให้ม็อบเยาวชนด้วย