ข้อมูลสำหรับใครที่กำลังจะออกหรือต่อใบขับขี่ต้องรู้ไว้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ ที่แก้ไขเพิ่มเติมจากร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและออกใบขับขี่ รวมถึงการต่ออายุใบขับขี่ โดยเพิ่มเติมเรื่องสำคัญ 2 เรื่องคือเพิ่มสภาวะโรคที่เสี่ยงต่อการขับขี่รถ และ กำหนดให้ผู้ประสงค์ขับขี่บิ๊กไบก์ที่มีความจุตั้งแต่ 400 ซีซีขึ้นไป ต้องสอบใบขี่เฉพาะ
โดยร่างกฎกระทรวง 10 ข้อมีดังนี้
- ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2548
- ปรับปรุงเอกสารหลักฐานประกอบคำขอรับใบอนุญาตขับรถ
- กำหนดเพิ่มเติมให้ใบรับรองแพทย์ที่จะนำมาใช้ประกอบการขอหรือต่อใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ขอนอกจากไม่มีโรคประจำตัวแล้วยังไม่มีสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่า อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
- กำหนดให้การขอต่อใบอนุญาตขับรถทุกกรณีต้องใช้ใบรับรองแพทย์ โดยใบรับรองแพทย์มีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด แต่หากแพทย์ไม่ได้กำหนดอายุไว้ ให้ใช้ได้ไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ออกใบรับรองแพทย์
- เพิ่มเติมอำนาจนายทะเบียนในการสั่งให้ผู้ขอรับหรือขอต่อใบอนุญาตขับรถต้องเข้ารับ การตรวจ และนำใบรับรองแพทย์มายืนยันความเหมาะสมในการขับรถเป็นหลักฐานประกอบการดำเนินการ
- ยกเลิกการใช้บัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ภาพถ่ายบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนและภาพถ่ายหรือสำเนาทะเบียนบ้านเป็นหลักฐานประกอบ คำขอรับใบอนุญาตขับรถ
- เพิ่มเติมให้สามารถนำหลักฐานที่ออกโดยหน่วยงานที่กรมการขนส่งทางบกมอบหมายให้ดำเนินการอบรมมาใช้ประกอบการขอรับใบอนุญาตขับรถได้
- เพิ่มเติมข้อกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขับรถจักรยานยนต์ที่มีกำลังสูง (Big bike) ต้องผ่าน การอบรมและทดสอบการขับรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีเป็นการเพิ่มเติม
- กำหนดให้ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถของรถประเภทเดียวกันกับที่ขอรับใบอนุญาตซึ่งรัฐบาลของประเทศอื่นออกให้ต้องยังไม่สิ้นอายุ
- เพิ่มเติมกรณีผู้ขอเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีสิทธิขอรับใบอนุญาตขับรถชนิดส่วนบุคคล (5 ปี)
ร่างกฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ หลังพ้นวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน