แฉเสือดำตายทรมาน ถูกยิงจาก 2 คน “ธานี” ถือปืนคามือ โชเฟอร์เจ้าสัวคุยแลกผลประโยชน์ (คลิป)

9 ก.พ. 61
จากกรณี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวกอีก 3 คน คือ นายยงค์ โดดเครือ, นางนที เรียมแสน และ นายธานี ทุมมาศ ถูกจับกุมฐานลักลอบเข้าตั้งแคมป์ และล่าสัตว์ป่า ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก พร้อมของกลางเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครอง และอาวุธปืน พร้อมเครื่องกระสุนหลายรายการ วันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกสอบเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อสืบสวนขยายผลเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกเเละให้ความอนุเคราะห์กับผู้ต้องหา
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดปฎิบัติการพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช
ล่าสุด วันนี้ (8 ก.พ.61) “รายการต่างคนต่างคิด” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.50 น. ได้เชิญ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดปฎิบัติการพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช , นายฐิติพันธ์ พัฒนมงคล นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี มาพูดคุยในรายการ ภายใต้หัวข้อ "รอดคดีหรือไม่ ถ้าเจ้าสัวไม่ได้ยิงเสือ?" นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ผู้ต้องหา 4 คนที่เข้าไป คือ นายเปรมชัย กรรณสูต, นายยงค์ โดดเครือ, นายธานี ทุมมาศ และนางนที เรียมแสน เข้าไปตั้งเต็นท์พักแรม ในวันที่ 3 ก.พ. 61 เวลา 15.00 น. นำรถกระบะ 4 ประตู ยกสูง ซุกซ่อนอาวุธปืน ผ่านด่านตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการตรวจค้น เพราะเห็นมีผู้หญิงนั่งมาด้วย และไม่คิดว่า คนระดับผู้บริหาร จะเข้ามาล่าสัตว์ป่า โดยยอมรับว่า หัวหน้าหรือเจ้าหน้าที่ มีความบกพร่องที่ไม่ตรวจสอบ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดปฎิบัติการพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช
นอกจากนี้ เรื่องที่มีการกล่าวอ้างว่าหลงทาง นายชัยวัฒน์ ยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะตลอดระยะทาง 30 กิโลเมตร บรรยากาศด้านซ้ายมือจะเป็นลำห้วย ส่วนขวามือเป็นภูเขา ดังนั้นเป็นเส้นทางบังคับ ไม่สามารถออกนอกเส้นทางได้ แต่คณะของนายเปรมชัย เข้าไปตั้งแคมป์ในจุดหวงห้าม ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใครเข้าไปพักแรม หลังพระอาทิตย์ตกดิน ไปจนถึงรุ่งเช้า สาเหตุที่กลุ่มผู้ก่อเหตุเข้าไป เนื่องจาก ทราบว่าที่จุดดังกล่าวมีสัตว์ป่าอยู่ในบริเวณนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปเตือนแล้วหนึ่งครั้ง แต่กลุ่มของนายเปรมชัย ไม่ยอมออกจากพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับแอบซุ่มเฝ้าระวัง จากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น.เจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น จึงวิทยุเรียกชุดสายตรวจ โดยผู้ช่วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ พร้อมกับเข้าไปที่จุดเกิดเหตุเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่เจอกลุ่มผู้ต้องหาเพียง 3 นาย ประกอบด้วย นายเปรมชัย , นายยงค์ และนางนที ก่อนตามรวบ นายธานี ไว้ได้ ขณะนั้น นายธานี ได้ถือปืนลูกซองแฝดซึ่งอยู่ข้างตัว และเมื่อตรวจค้น บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงแคมป์ในระยะ 400 เมตร เจ้าหน้าที่พบ ขนสัตว์ กับลำไส้ อวัยวะภายใน ถูกซุกซ่อนในซอกหินร่องห้วย เมื่อ นายวิเชียร ชิณวงศ์ หัวหน้าชุดจับกุม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ไปถึงที่เกิดเหตุเวลา 18.00 น. มีการตรวจค้นพบซาก ไก่ฟ้าหลังเทา กระทั่งเที่ยงคืน จึงพบปืน แล้วรู้ว่ากลุ่มของนายเปรมชัยเป็นผู้ล่า และนำมาปรุงอาหาร
รายชื่อผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
จากการสันนิษฐานเบื้องต้น คาดว่า ผู้ที่มีความชำนาญในพื้นที่ คือ นายธานี กับ นายยงค์ เนื่องจาก เป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี จึงเป็นไปได้ว่ามีความชำนาญในพื้นที่ป่าดี และอาจเคยเห็นเสือดำตัวนี้มาก่อน นอกจากนี้ ทางกลุ่มผู้ต้องหาได้มีการตระเตรียมอาวุธปืนยาวไรเฟิล ขนาด .22 มม. ติดลำกล้องเข้าไป ส่อเจตนาชัดเจนว่าจะเข้าไปล่าสัตว์ ทางเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้จดหมายเลขทะเบียนอาวุธปืน พร้อมกับวัดขนาดความยาวปืน ไปแจ้งความเอาไว้แล้ว ก่อนส่งตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ แม้ว่า นายเปรมชัย จะให้การปฎิเสธว่าปืนไม่ใช่ของตัวเอง แต่ภายหลังการตรวจแล้วพบว่า ทะเบียนเป็นชื่อของ “นายเปรมชัย” จริง
ซากเสือดำ
ส่วนซากเสือดำ ซึ่งถูกถลกหนัง ตัดส่วนต่างๆ ออกเป็นชิ้น เมื่อนำมาประกอบเป็นตัว พบว่าเนื้อสะโพกหายไป เมื่อสอบถามได้รับคำตอบว่า อยู่ในหม้อต้มซุปพร้อมกับส่วนหาง ทั้งนี้ระหว่างเก็บซากพิสูจน์หลักฐาน นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ผู้ก่อเหตุสามารถชำแหละซากสัตว์ได้แบบมืออาชีพ มีการแยกเนื้อ กะโหลกเสือ ไก่ฟ้าหลังเทา เนื้อเก้ง อย่างชำนาญ ทั้งนี้ ภายหลัง กองพิสูจน์หลักฐาน ได้จำลองการยิงแล้วเห็นว่ามี 2 มุมในการยิง แสดงว่ามีการยิง 2 ครั้ง จึงเชื่อได้ว่า ผู้ก่อเหตุใช้ปืนลูกปรายยิง ก่อนจะยิงซ้ำอีกครั้งหนึ่งจึงเสียชีวิต ซึ่งน่าจะมีคนยิง 2 คน ส่วนคลิปเสียง เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่พูดตีสนิทกับผู้ก่อเหตุ เพื่อหลอกถามว่า ใครเป็นคนยิง? โดยเสียง 1 ในนั้น คือ นายยงค์ คนขับรถของ นายเปรมชัย มีการพูดเรื่องผลประโยชน์ ขณะที่นายเปรมชัย เมื่อถูกจับกุมกลับนั่งเฉย ไม่พูดจาอะไร แต่จากหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมดขณะนี้ เชื่อมั่นว่า จะสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดปฎิบัติการพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ
หลังจากจบรายการต่างคน ต่างคิด นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดปฎิบัติการพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้พูดถึงประเด็นกระสุนที่มีการใช้ยิงเสือดำว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ พบว่ากระสุนที่ใช้ยิงเสือดำนั้น บริเวณตัวเสือ เป็นลูกปรายจากการใช้ปืนลูกซอง เพราะลักษณะกระสุนเป็นลูกละเอียดมาก ประมาณ 5 เม็ด แต่อีกจุดหนึ่งบริเวณศีรษะที่รูใหญ่กว่าลูกปราย
ปืนไรเฟิล ติดลำกล้อง ขนาด .22 มม.
เบื้องต้น เป็นลักษณะของปืน .22 มม. ตนขอสันนิษฐานว่า น่าจะมีการยิงถึง 2 ครั้ง และอาจจะยิง 2 คนก็ได้ เพราะอาจจะเป็นลักษณะยิงครั้งเดียวแต่ไม่ตาย จึงวิ่งตามไปยิงซ้ำอีกครั้ง โดยจากประสบการณ์ที่จะต้องมีการยิงถึง 2 ครั้ง เนื่องจากสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือ ถ้าไม่ยิงโดนตรงจุดสำคัญจะไม่ตายทันที นายชัยวัฒน์ บอกอีกว่า สำหรับความเชี่ยวชาญในการยิงปืนตนคิดว่า เป็นมืออาชีพแน่นอน เนื่องจากตัวปืนได้ติดกล้องไว้อยู่แล้ว รวมถึงสภาพของเสือดำที่ได้ชำแหละออกมาอยู่ในสภาพดี ตนคิดว่าการยิงเสือดำครั้งนี้ ก็คงจะเป็นเกมส์ล่าสัตว์ เพื่อความสนุกสนาน และนำมากิน ยิ่งได้สัตว์แปลกยิ่งมีความสนุกสนานมากขึ้น โดยเฉพาะเสือดำ ที่ไม่มีใครกินอยู่แล้วด้วย โดยทั่วไปแล้ว พรานป่าส่วนใหญ่ยิงในเฉพาะตรงจุดสำคัญ หากต้องการจะเอาหนังหรือขน จะเล็งให้หนังมีการเสียหายน้อยที่สุด เพราะหากมีการชำแหละแล้วเสียเล็กน้อย สามารถที่จะซ่อมแซมได้ โดยเฉพาะการยิงที่ไหล่หน้า หรือบริเวณหูขวา ก็ถูกอวัยวะข้างในครั้งเดียวก็ตาย หรือบางครั้งจะมีการวางยา แต่ถ้าวางยาจะเอาเนื้อมากินไม่ได้ แต่อาจจะทำเพื่อสร้างความปั่นป่วนของเจ้าหน้าที่ เพราะเคยมีลักษณะนี้เช่นกัน
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดปฏิบัติการพญาเสือ สวมเสื้อที่นักเดินป่ามักใช้
ส่วนเรื่องเสื้อที่สังคมออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า เสื้อที่นายเปรมชัย สวมใส่ในวันที่ถูกควบคุมตัวเป็นเสื้อที่นายพราน มักใส่ในการล่าสัตว์หรือไม่นั้น นายชัยวัฒน์ ยืนยันเสื้อที่นายเปรมชัยสวมใส่ เป็นเสื้อของนักล่าสัตว์ หรือนักท่องเที่ยวเดินป่าใช้ และเป็นเสื้อที่ราคาแพง กันความหนาวได้ ที่สำคัญแผ่นอยู่ที่บ่า (สีน้ำตาล) เป็นจุดที่สามารถรับน้ำหนัก และกันลื่นของปืน รวมถึงยังสามารถรับแรงเสียดทานหลังจากการยิงปืนได้ ดังนั้นเห็นได้ว่าเวลาที่นายเปรมชัย พักผ่อนจะใส่เสื้ออีกตัวหนึ่งที่เป็นแบบสบายๆ แต่เมื่อเห็นใส่เสื้อตัวนี้ แสดงว่าน่าจะมีกิจกรรม หรือภารกิจอะไรบางอย่างที่จะต้องสะพายปืน
จุดตรวจค้นระหว่างทางเข้า
ส่วนในกรณีที่หลายคนมองว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม้มีอัตราเงินตอบแทนไม่สูง แต่ยังไม่รับสินบนนั้น ตนคิดว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานรัฐทุกคน ก่อนที่จะมาปฏิบัติภารกิจ และบรรจุงาน ต้องมีอายุงานไม่น้อยกว่า 5 ปี การที่จะสมัครแล้วมาปฏิบัติงานเลย จะทำไม่ได้ จึงเห็นได้ว่า ในช่วง 5 ปีนี้ ถ้าคนไม่รักป่าจริงๆ ก็คงไม่อยู่กัน เพราะบรรจุครั้งแรก อัตราเงินเดือนประมาณ 7,500 บาทเท่านั้น เมื่อนำมาหารดูจะรู้ว่าได้เพียงวันละกี่บาท ซึ่งคนเหล่านี้จึงได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว ที่อาจจะเติบโตจากป่าไม้จริงๆ อยู่แล้ว และมีจิตสำนึก มีอุดมการณ์เหมือนกับครอบครัว ด้วยสำนึกลึกๆ แล้ว เขาอยู่กับป่ามาก่อน จะรู้สึกรัก และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากนี้ จะมีการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังมากขึ้นหรือไม่นั้น ตนคิดว่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่ระวังเข้มงวดมาโดยตลอด แต่จะเจอภัยคุกคามในลักษณะนี้ตอนไหนเท่านั้นเอง เนื้อที่ป่าส่วนนี้ กว้างถึง 2 ล้านไร่ เจ้าหน้าที่มีไม่ถึง 200 คน คนที่ซุ่มทำมันมีมากกว่าคนที่ฝ้าระวัง เราอยู่ที่สว่าง แต่คนซุ่มทำอยู่ที่มืด สุดท้ายแล้ว ตนก็ยังเป็นผู้พิทักษ์ป่าที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจ เสียสละ อยากให้ลูกน้องทุกคนต่อสู้ เป็นกำลังใจให้กันไปโดยตลอด
นายถนัด เณรจาที กำนันตำบลชะแล
นอกจากนี้ทีมข่าวลงพื้นที่ ไปพูดคุยกับชาวบ้านเกริงกระเวีย หมู่ 2 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีอาณาเขตติดกับอุทยานแห่งชาติลำคลองงู, อุทยานแห่งชาติเขาแหลม, อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร นายถนัด เณรจาที กำนันตำบลชะแล ให้ความคิดเห็นเรื่อง นายเปรมชัย มาล่าสัตว์ในป่าว่า ตนมีความรู้สึกว่าคนที่ฐานะดี ไม่น่าเข้ามารังแกสัตว์ถึงข้างในป่า ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกเช่นนี้ ส่วนการเจอเสือดำนั้นในพื้นที่ นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนตัวยังไม่เคยเห็น เพราะเสือดำจะอยู่ในป่าลึก แต่ในพื้นที่ดังกล่าว ตนมักจะเจอเสือโคร่งมากกว่า นายถนัด บอกว่า ประเด็นเมนู "ซุปหางเสือดำ" ตนไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า มีชาวบ้านในตำบล นิยมกินเมนูดังกล่าว และตนไม่ทราบว่าเป็นความเชื่อของคนกลุ่มไหน พฤติกรรมการเข้าป่าของชาวบ้านนั้น ส่วนใหญ่จะไม่เข้าไปในป่าลึก ชาวบ้านจะเก็บแค่เห็ดกับหน่อไม้ มาประกอบอาหารประทังชีวิต โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน พร้อมยอมรับว่า มีบ้างที่ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยว จะทำผิดแต่เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนการเข้าไปฆ่าเสือ ตั้งแต่เกิดมาตนเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกในชีวิต  

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ