จับตา น.ศ. ชุมนุม "ธรรมศาสตร์" 19 ก.ย. 63
วันที่ 18 ก.ย. 63 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) กลุ่มตัวแทนแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดชี้แจงรายละเอียดการจัดกิจกรรม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ที่มหาวิทยาลัยธรามศาสตร์
น.ส.ปนัสยา สิทธิจริวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า ขณะนี้มีการเตรียมพร้อมการชุมนุมไว้ทุกด้านแล้ว ทั้งการจัดเวที และเนื้อหาในการปราศรัย การประเมินสถานการณ์มีผู้เข้าร่วมหลากหลายกลุ่ม ไม่ต่ำกว่า 50,000 คน อาจถึง 100,000 คน
โดยยืนยันว่าทางกลุ่มไม่ได้มีนโยบายในการพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ ปล่อยให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน พร้อมเจรจาเหมือนที่ผ่านมา สิ่งที่กังวลคือพายุฝน อย่างไรก็ตาม หากฝนตกก็ยังคงจะเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไป และหากมีการจับกุมแกนนำแถวหน้า ก็จะมีแกนนำแถว 2 จะเข้ามาแทน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอุดมการณ์ของเราต้องไปต่อ เป้าหมายของการชุมนุมต้องการสื่อไปยังรัฐบาลว่าม็อบครั้งนี้ไม่ใช่ม็อบง่อย ๆ อย่าคิดแค่ว่าเป็นเด็กเป็นนักศึกษาแล้วจะไม่มีพลัง ขอให้รัฐบาลหันมาฟังข้อเรียกร้องของประชาชน ต้องใส่ใจประชาชน ถ้าทำไม่ได้ก็ควรออกไป
ล่าสุด เวลา 20.00 น. บรรยากาศที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เจ้าหน้าที่ได้ปิดประตูทุกด้าน โดยใช้กุญแจล็อกจากด้านใน ประตูหอประชุมใหญ่ และประตูหอประชุมศรีบูรพา ฝั่งตรงข้ามสนามหลวง ติดป้ายมหาวิทยาลัยปิดทำการชั่วคราว วันที่ 18-20 ก.ย. 63
ด้านในมหาวิทยาลัยด้านข้างป้อม รปภ. เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบยืนสังเกตการณ์ ด้านข้างประตูทางเข้ามีการตั้งเต็นท์ ติดตั้งเครื่องสแกนอาวุธและวัตถุระเบิด รวมถึงมีการตั้งแผงเหล็กเตรียมไว้บนฟุตพาท หรือ ทางเท้า
ส่วนฝั่งสนามหลวงยังเปิดประตูให้ประชาชนเดินผ่านตามปกติ และมีการเปิดไฟส่องสว่างทั่วพื้นที่ โดยจะมีการปิดประตูในเวลา 22.00 น. - 05.00 น.
การชุมนุมในวันที่ 19 -20 ก.ย. 63 กลุ่มแกนนำพร้อมทีมงานจะมารวมตัวกันที่หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อน จากนั้นเวลา 13.00 น. จะมีการปราศรัยไปเรื่อย ๆ เพื่อรอมวลชน ซึ่งทางแกนนำจะประเมินสถานการณ์ หากมวลชนคนเยอะจึงจะเริ่มการเจรจาเคลื่อนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หากการเจรจาไม่เป็นผล ก็จะทำตามแผนที่เตรียมไว้ ก่อนใช้รถเครื่องขยายเสียงนำขบวนเข้าไปที่สนามฟุตบอล
เมื่อจำนวนคนมากพอ จึงจะใช้รถนำเคลื่อนขบวนเข้าประตูสนามหลวงฝั่งหน้าหอใหญ่ ถ้าตำรวจไม่ให้เข้าจะเจรจาก่อน คาดว่าช้าสุดจะเข้าสนามหลวงได้ประมาณ 20.00 น. และจะตั้งเวทีใหญ่ หันหน้าเข้าศาลฎีกา สำหรับช่วงไฮไลท์จะเป็นตั้งแต่ 21.00 น. เป็นต้นไป ประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ และกำหนดยุทธศาสตร์
จากนั้นในวันที่ 20 ก.ย. 63 ช่วงกลางดึกเป็นการฉายหนัง รันเวทีไปจนถึง 02.30 น. หลังจากนั้นจะให้ผู้ปราศรัยขึ้นพูดไปจนเช้าวันที่ เวลา 08.00 น. แกนนำจะประกาศว่าจะไปที่ไหน และเคลื่อนพลออกจากสนามหลวง เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ แต่ไม่ไปทำเนียบรัฐบาล
ด้านการดูแลความเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ แผนปฏิบัติการ "กรกฎ 52" ระบุ 4 ขั้นตอน จัดกำลังควบคุมฝูงชน 6 ผลัดคุมเข้ม กระจายกำลังปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด 14 จุด แบ่งช่วงเวลา 6 ผลัด ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 19 ก.ย. - เวลา 14.00 น. ของวันที่ 20 ก.ย. โดยแต่ละจุดจัดวางกำลังที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รวม 3 กองร้อย, พระบรมมหาราชวัง 4 กองร้อย, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 3 กองร้อย, แยก จปร. 3 กองร้อย, แยกสะพานมัฆวาน 3 กองร้อย, แยกสะพานวิศสุกรรมนฤมาณ 1 กองร้อย, แยกสะพานเทเวศรนฤมิตร 1 กองร้อย, แยกสวนมิสกวัน 1 กองร้อย, แยกอู่ทองนอก 1 กองร้อย, สถานีดับเพลิงวชิระ 1 กองร้อย, แยกเทวกรรม 1 กองร้อย, แยกพาณิชยกรรม 2 กองร้อย, แยกเสาวนี 1 กองร้อย, แยกอุภัยเจษฎุทิศ 1 กองร้อย
โดยแผนชุมนุม 63 "กรกฎ 52" คือแผนปฏิบัติการหลัก แนวทางแก้ไขสถานการณ์วิกฤต ใช้ในการรับมือการชุมนุม การก่อความไม่สงบ มี 4 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการก่อนเกิดเหตุ เช็กการข่าว หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านการข่าว ประสานงานกับหน่วยงานข่าวต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง
ขั้นตอนที่ 2 การเผชิญเหตุ ซึ่งในกรณีนี้คือ การชุมนุม ตำรวจท้องที่จัดส่งกำลังเข้าดูแลความสงบเรียบร้อย หรือระงับเหตุ รักษากฎหมาย จัดระเบียบบริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบ ด้วยการแยกพื้นที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ทั่วไป
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อสถานการณ์วิกฤต และจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ เมื่อการเจรจาต่อรองหรือปฏิบัติการอื่นใดไม่เป็นผล สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และของทางราชการ ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์
กรณีต้องยับยั้งวิกฤต ควบคุมสถานการณ์ชุมนุมดำเนินการตาม "กฎการใช้กำลัง" ตามลำดับ 1.การแสดงกำลังของตำรวจ 2.การใช้คำสั่งเตือน 3.การใช้มือเปล่าจับกุม 4.การใช้มือเปล่าจับล็อกบังคับ 5.การใช้เครื่องพันธนาการ ปืนยิงตาข่าย 6.การใช้คลื่นเสียง 7.การใช้น้ำฉีด 8.อุปกรณ์เคมี เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย 9.กระบองหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตี และ 10.อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น กระสุนยาง และอุปกรณ์ชอร์ตไฟฟ้า
ขั้นตอนที่ 4 การฟื้นฟู เมื่อสถานการณ์คลี่คลายสู่สภาวะปกติ ให้ดำเนินการสอบสวน ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด จัดหน่วยทำหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของผู้ปฏิบัติงาน สนับสนุนส่วนราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟู บูรณะทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อได้รับการร้องขอ
ส่วนที่ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ที่ผมพูดไปเมื่อวานเป็นความห่วงใยจริง ๆ ผมไม่ต้องการจะไปข่มขู่ใครทั้งสิ้น แต่มันเป็นเรื่องจริง ฉะนั้นผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องเข้าใจตรงนี้ ต้องห่วงใยลูกหลานของท่าน ถ้ามันเป็นอะไรกันขึ้นมา จะรับมือกันไหวหรือเปล่า แค่นั้นที่เป็นห่วง เพราะคนมันจำนวนมาก
แม้ว่าจะมีความพร้อมอยู่ก็ตาม ฉะนั้นอะไรก็ตามที่จะลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่เขาได้บ้าง ซึ่งต้องมาตรากตรำหลายเรื่อง ทั้งโควิดด้วย อะไรด้วย หลายอย่าง เจ้าหน้าที่เขาก็เหน็ดเหนื่อย"
เพจเฟซบุ๊ก "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration" โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ เปิดตัวผู้ปราศรัยเวทีสนามหลวง โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุด
ชุดที่ 1 ทนายอานนท์ นำภา ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน, ไผ่ ดาวดิน กลุ่มดาวดิน สามัญชน, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม, ไมค์ ภานุพงศ์ เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย, รุ้ง ปนัสยา แนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม
ชุดที่ 2 หลิน ปิยมิตร กล้าณรงค์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ องค์กรปลดเผด็จการเพื่อเสรีภาพ, ฮ่องเต้ ธนาธร พรรควิฬาร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หมู่อาร์ม สิบเอก ณรงค์ชัย อินทรกวี, จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง, มิน ซูฮัยมี สมาชิก สนท. ภาคใต้
ชุดที่ 3 ประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องอันดามัน จากถ่านหิน และถิ่นเกิด, แชมป์ ฉัตรชัย พุ่มพวง คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, มิน ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ นักเรียนเลว, วาดดาว ชุมาพร แต่งเกลี้ยง รองหัวหน้าพรรคสามัญชน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ปราศรัย ที่เวทีท่าพระจันทร์อีก 4 คน คือ ธนชัย เอื้อฤาชา กลุ่มลูกพ่อขุนฯ โค่นล้มเผด็จการ, ไหม ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชา, หมอลำแบงก์ ปฏิภาณ ลือชา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
เปิด 11 เส้นทางควรหลีกเลี่ยงม็อบใหญ่ แนะนำให้ประชาชนที่มีความจำเป็นที่ต้องเดินทางในเส้นทางใกล้ม็อบ ใน 9 เส้นทาง และ 2 สะพาน ประกอบด้วย ถนนราชดำเนินใน, ถนนหลานหลวง, ถนนราชดำเนินกลาง, ถนนดินสอ, ถนนราชดำเนินนอก, ถนนตะนาว, ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า, ถนนจักรพรรดิพงษ์, ถนนวิสุทธิกษัตริย์, สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สะพานพระราม 8
ในส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จะมีการจัดเวทีและกิจกรรมคู่ขนาน บริเวณลานประตูท่าแพ ในตัวเมืองเชียงใหม่
ขณะที่การเดินทางเข้าร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ส่วนของนักศึกษาเบื้องต้น มีรายงานข่าวว่ากลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เป็นสมาชิกกลุ่มพรรควิฬาร์ จะเดินทางเข้าร่วมด้วยโดยรถยนต์ส่วนตัว ขณะที่กลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย เดินทางด้วยรถโดยสารประจําทาง ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เป็นสมาชิกกลุ่มคณะคันนา พร้อมแนวร่วม จะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว
สำหรับกลุ่มอาจารย์และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมผู้ติดตาม จะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว กลุ่มคณะก้าวหน้าเชียงใหม่ พร้อมกับกลุ่มอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เดินทางเข้าร่วมโดยรถยนต์ส่วนตัว